fbpx skip to Main Content
ยาคุมกำเนิด

กินยาคุมกำเนิดนาน ๆ เสี่ยงมะเร็งเต้านม-มะเร็งปากมดลูกจริงไหม

                                        กินยาคุมกำเนิดนาน ๆ จะเสี่ยงโรคมะเร็งมากขึ้นหรือเปล่า หรือผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดอันตรายจริงหรือไม่ 

          ยาคุมกำเนิด แบบรับประทานถือเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากสามารหาทานยาคุมกำเนิดได้สะดวก ง่าย และราคาไม่แพงนัก                 การทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้หลายๆท่านกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองจาการรับประทานยาติดต่อกันนานๆ  เพราะบางกระแสก็บอกว่ากินยาคุมนาน ๆ จะเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น และอาจจะเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกมากขึ้นไปอีก

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม

กินยาคุมกำเนิดนาน ๆ เสี่ยงมะเร็งเต้านมจริงไหม

ตามปกติจากผลงานวิจัยผู้หญิงเรามีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม 1 ใน 8 อยู่แล้ว และความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมก็มีหลายปัจจัย ดังต่อไปนี้

– ประจำเดือนมาเร็ว (ก่อนอายุ 12 ปี)
– ประจำเดือนหมดช้า (หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี)
– มีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี
– ไม่มีบุตร

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติผิดปกติ โดยมีฮอร์โมนดังกล่าวในอัตราที่สูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้มีความเสี่ยงเนื้อเยื่อเต้านมผิดปกติเพิ่มสูงขึ้นได้ ทว่าการใช้ยาคุมกำเนิดซึ่งเป็นยาที่มีฮอร์โมนเพศช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ฮอร์โมนที่อยู่ในยาคุมกำเนิดเหล่านี้อาจกระตุ้นเนื้อเยื่อเต้านมได้เช่นกันค่ะ แต่ก็ถือว่ามีผลน้อยมาก และจะมีผลก็ต่อเมื่อกินยาคุมกำเนิดติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป หรือจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นได้ ในกรณีที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนตามธรรมชาติดังเคสเบื้องต้น หรือยาคุมกำเนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น ในคนที่มีประวัติญาติพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านม รวมไปถึงผู้ที่เริ่มใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่วัยรุ่น
อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางการแพทย์พบว่า ความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมในคนที่กินยาคุมกำเนิดจะลดลงเรื่อย ๆ หลังหยุดกิน กระทั่งหยุดกินยาคุมกำเนิดไปแล้วเกิน 10 ปี ความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมก็จะเท่ากับคนที่ไม่ได้กินยาคุมกำเนิด

แต่แม้ว่ายาคุมกำเนิดจะมีผลเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมเพียงเล็กน้อย ทว่าผู้หญิงทุกคนทั้งที่กินยาคุมและไม่ได้กินยาคุมกำเนิดก็ควรหมั่นตรวจเต้านมเป็นประจำ เพื่อป้องกันไว้ก่อนจะดีที่สุด และหากพบก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านม ก็ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งหากเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง ก็ยังสามารถใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำได้ โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

 

กินยาคุมนาน ๆ เสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือไม่

ข้อมูลทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่า การกินยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันนาน 5 ปีขึ้นไป อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้เล็กน้อย แต่ความเสี่ยงจะลดลงเมื่อหยุดกินยาคุมกำเนิดเกิน 10 ปี ทั้งนี้ความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูกจะเพิ่มขึ้นกับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกโดยแท้จริงแล้วเกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์นั่นเอง

ทั้งนี้ทางการแพทย์ยังสันนิษฐานด้วยว่า หญิงที่กินยาคุมกำเนิดมักจะละเลยการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งนั่นก็อาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ HPV มากขึ้นได้

ยาคุมกำเนิดกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ

แม้จะมีข้อมูลว่าการกินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกได้เล็กน้อย แต่ถึงกระนั้นข้อดีของการกินยาคุมกำเนิดก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งรังไข่ได้ดี นอกจากนี้ในคนที่มีปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือโรค PCOS การกินยาคุมกำเนิดก็จะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งโพรงมดลูกด้วยนะคะ

เอาเป็นว่าการกินยาคุมกำเนิดไม่ได้ทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งปากมดลูก แถมยาคุมกำเนิดยังมีข้อดีที่ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ลดปริมาณประจำเดือนในคนที่มีประจำเดือนมามากแบบล้นทะลัก ช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ ลดอาการ PMS และบางชนิดของยาคุมกำเนิดยังช่วยลดสิว ลดขนดก ลดหน้ามันได้อีกด้วย

 ทว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง ก็พยายามหลีกเลี่ยงการกินยาคุมกำเนิดติดต่อกันเกิน 5 ปี และควรใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วยจะดีกว่า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทย์ศาสตร์มหาลัยมหิดล
สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
คณะแพทย์ศาสตร? มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เฟซบุ๊คใกล้มิตรชิดหมอ
cancer.gov
breastcancer.org, www.health.kapook.com

 

Back To Top