ชนิดของสิวอุดตัน
ชนิดของสิวอุดตัน
สิวอุดตัน แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ตามลักษณะของสิวอุดตัน
1. สิวอุดตันที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Microcomedone) เมื่อผิวหนังมีการหลั่งไขมันมากขึ้นและฮอร์โมนแอนโดรเจนช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ชั้นขี้ไคลที่รูขุมขน จะทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า “ไมโครคอมีโดน” ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวชนิดต่างๆ โดยไม่โครคอมีโดนนี้สามารถหายได้เองหรือพัฒนากลายเป็นสิวชนิดอื่นๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วม
2. สิวอุดตันหัวเปิด (Open comedone) สิวอุดตันชนิดนี้จะมีหัวสีดำ หรือที่รู้จักกันว่า “สิวหัวดำ” โดยสามารถบีบออกหรือกดออกได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังเพราะอาจจะกลายเป็นสิวอักเสบได้นั่นเอง สิวหัวดำนี้มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเม็ดเล็กๆ และมีจุดสีดำตรงกลาง ซึ่งเป็นจุดรวมของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ไขมัน และเชื้อแบคทีเรีย P.acne
3. สิวอุดตันหัวปิด (Close comedone) สิวอุดตันชนิดนี้จะมีหัวสีขาว โดยจะมีสีเดียวกับผิวหนัง แต่เป็นตุ่มนูนที่ไม่สามารถบีบออกหรือกดออกได้ เนื่องจากไม่มีหัวสิวนั่นเอง เกิดจากการอุดตันในท่อเปิดของต่อมไขมันและรูขุมขน ส่วนใหญ่มักจะกลายเป็นสิวอักเสบได้
สาเหตุของการเกิดสิวอุดตัน
สิวอุดตันนั้นไม่ได้เกิดจากความสกปรกหรือการรักษาความสะอาดที่ไม่เพียงพอ แต่จริงๆ แล้วสิวอุดตันนั้นเกิดจากการผลิตน้ำมันของต่อมไขมันทำงานมากเกินไปต่างหาก โดยมีฮอร์โมนแอนโดรเจนเป็นตัวควบคุมการทำงานของต่อมไขมันนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงใกล้หมดประจำเดือน การล้างหน้าไม่สะอาด ปัญหาการแพ้เครื่องสำอาง หรือแม้แต่การใช้ยาสเตียรอยด์บางประเภท เป็นต้น
10 วิธีรักษาสิวอุดตัน
วิธีรักษาสิวอุดตัน เมื่อเราทราบสาเหตุของการเกิดสิวอุดตันและชนิดแต่ละประเภทแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถกำจัดสิวอุดตันด้วยตนเองอย่างได้ผล โดยปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้ร่วมกัน
1. ดูแลตนเอง
ดูแลตนเองอย่างพิถีพิถัน เริ่มจากการรักษาความสะอาดบนใบหน้าให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบนใบหน้า จากนั้นควรเลือกใช้เครื่องสำอางหรือครีมบำรุงผิวที่เหมาะกับสภาพผิวของตนเอง หลีกเลี่ยงการขัดเช็ดถูใบหน้าแรงๆ รับประทานผักผลไม้สดที่มีวิตามินและแร่ธาตุสูง รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียด
2. หลีกเลี่ยงแสงแดด
หลีกเลี่ยงแสงแดด เนื่องจากแสงแดดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่ใบหน้ามีสิวอุดตันอยู่แล้ว และกำลังใช้ยาทารักษาสิวอยู่นั้น จะทำให้ผิวหน้าไวต่อแสงแดดมากขึ้น เมื่อใช้ครีมกันแดดแล้วล้างหน้าเอาครีมกันแดดออกไม่หมด จึงส่งผลให้เกิดการอุดตันซ้ำซากจนรักษาสิวอุดตันไม่หาย
3. ควบคุมความมันของผิวหน้า
ควบคุมความมันของผิวหน้า พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะช่วยทำให้ใบหน้ามีความมันมากขึ้น เช่น งดรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เปลี่ยนจากครีมบำรุงผิวเนื้อหนักเป็นเจลบำรุงผิวที่มีเนื้อบางเบา เป็นต้น
4. ใช้ยารักษาสิวอุดตัน
ใช้ยารักษาสิวอุดตัน ยาที่มีส่วนประกอบของสารสำคัญ Benzoyl peroxide จะช่วยลดสิวอุดตันได้ในระดับปานกลาง โดยใช้ทาบนใบหน้าวันละ 2 ครั้ง คือเวลาเช้าและก่อนนอน ทิ้งไว้ครั้งละ 10 นาที จากนั้นล้างออกให้สะอาด ซึ่งยาชนิดนี้จะช่วยลดปริมาณไขมันของผิวหนังและละลายสิ่งสกปรกที่อุดตันในรูขุมขน ดังนั้นจึงช่วยลดการอุดตันจากท่อเปิดของต่อมไขมันนั่นเอง แต่ผู้ที่เริ่มใช้ยาชนิดนี้จะต้องเริ่มจากยาที่มีความเข้มข้นต่ำเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยเพิ่มระยะเวลาในการทาให้นานขึ้น แล้วจึงค่อยเพิ่มความเข้มข้นของตัวยา
5. ใช้ยาละลายสิวอุดตัน
ใช้ยาละลายสิวอุดตัน ยาประเภทนี้จะอยู่ในกลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids) ซึ่งเป็นสารสกัดจากอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอที่สามารถลดสิวอุดตันได้ดีมาก โดยจะช่วยละลายไขมันที่อุดตันให้อ่อนตัวลงและหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น แต่ยาชนิดนี้ควรใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผิวหนัง เนื่องจากมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาพอสมควร เช่น ทำให้ผิวแห้ง ลอก และไม่สามารถใช้กับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ได้
6. ใช้ผลิตภัณฑ์ประเภท AHA หรือ BHA
ใช้ผลิตภัณฑ์ประเภท AHA หรือ BHA ถึงแม้ว่ายาทั้งสองชนิดนี้จะให้ผลที่ได้ไม่รวดเร็วเท่ายากลุ่มเรตินอยด์ แต่ก็ให้ผลข้างเคียงที่น้อยกว่าอีกด้วย โดย AHA หรือ Glycolic acid จะช่วยขจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพให้หลุดออก ส่วน BHA หรือ Salicylic acid จะช่วยละลายไขมันที่อุดตันในรูขุมขนได้ในระดับปานกลาง
7. ยารับประทานกลุ่มเรตินอยด์
ยารับประทานกลุ่มเรตินอยด์ เป็นยาที่ช่วยลดการทำงานของต่อมไขมันใต้ชั้นผิวหนัง จึงทำให้ใบหน้ามีความมันลดน้อยลง หน้าแห้ง และลดคอมีโดนที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสิว แต่เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงต่อตับอย่างรุนแรง จึงอาจทำให้เกิดอาการตาพร่ามัวหรือปวดข้อตามร่างกาย ดังนั้นยาชนิดนี้จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
8. การผลัดเซลล์ผิว
การผลัดเซลล์ผิว หรือการใช้น้ำยาสารเคมีทำการลอกผิวหน้า เพื่อขจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพแล้วสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งสารเคมีที่นิยมใช้ได้แก่ AHA หรือ Glycolic acid, BHA หรือ Salicylic acid, TCA หรือ Trichloroacetic acid และ Phenol หรือ Carbolic acid เพื่อทำให้สิวอุดตันนั้นฝ่อและหลุดออกมาง่ายขึ้น จึงเป็นการช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน
9. กดสิวอุดตัน
กดสิวอุดตัน วิธีนี้ควรกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและมีอุปกรณ์การกดสิวที่มีคุณภาพเท่านั้น เพื่อป้องกันการเกิดรอยดำหรือแผลเป็นและหลุมสิวที่จะรักษายากในภายหลัง ซึ่งวิธีนี้เราจะกดสิวเฉพาะสิวหัวเปิดเท่านั้น แพทย์จะใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วจิ้มไปที่หัวสิว เพื่อทำให้หัวสิวเปิด จากนั้นจึงจะใช้อุปกรณ์กดสิวกดลงไปตรงกลางของตำแหน่งที่สิวเม็ดนั้น ก็จะทำให้สิวอุดตันหลุดออกมาโดยง่าย
10. การทำเลเซอร์
การทำเลเซอร์ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวอุดตันจำนวนมาก ซึ่งอาจจะอยู่ลึกหรือกดออกได้ยาก เพราะวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพดีมาก โดยไม่ทำให้เลือดออกและไม่มีรอยแผลเป็น ขณะที่ทำเลเซอร์จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย แต่ไม่มีอันตรายใดๆ และควรทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเท่านั้น
วิธีรักษาสิวอุดตันด้วยธรรมชาติ
วิธีรักษาสิวอุดตันด้วยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาสิวอุดตันด้วยการพอกหน้าจากสมุนไพรอย่างเช่น มะเขือเทศ หอมแดง น้ำผึ้ง หรือเปลือกส้มผสมโยเกิร์ตก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน แต่อาจจะเห็นผลช้าไม่เท่ากับการใช้ยาชนิดต่างๆ นั่นเอง