ทำความเข้าใจและรับมือกับการแพ้อาหารทะเล
ทำความเข้าใจและรับมือกับการแพ้อาหารทะเล
เนื่องจากอาหารทะเล เป็นหนึ่งในอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้มากที่สุด จึงเห็นว่าน่าจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการแพ้อาหาร การตรวจหาอาหารที่เป็นสาเหตุ และวิธีการรับมือเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเริ่มแพ้อาหารทะเลหรืออาหารชนิดอื่นๆ ทั้งที่เคยรับประทานมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่เคยมีอาการผิดปกติใดๆ และอีกหลายกรณีตัวอย่างของการเข้าใจผิดว่าตนเองแพ้อาหารทะเล ซึ่งเราเห็นว่าควรนำมาอธิบายไว้ในที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าทุกท่าน
การแพ้อาหารคืออะไร
การแพ้อาหาร เป็นกลไกของระบบภูมิต้านทาน อธิบายอย่างง่ายๆ คือ หลังจากได้รับอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ร่างกายได้มีการสร้างภูมิต้านทานชนิด อี (Immunoglobulin E: IgE) ออกมา และจะแสดงอาการเมื่อมีการรับประทานอาหารชนิดนั้นเข้าไปอีกครั้ง โดยอาหารนั้นจะไปกระตุ้น IgE ทำให้มีการหลั่งสารเคมี อย่างสารฮีสตามีน ที่ทำใก้เกิดอาการแพ้ แสดงออกมาในส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ความสามารถในการสร้าง IgE นั้น อาจเกิดจากสาเหตุดังนี้
1. สาเหตุจากพันธุกรรม
2. ปัจจัยทางสรีระและสุขภาพตอนที่รับประทานอาหารชนิดนั้น (ผู้ที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว มีโอกาสแพ้อาหารได้มากกว่าคนทั่วไป)
นอกจากนี้ อาจเกิดได้จากการออกกำลังกายหลังจากเพิ่งรับประทานอาหาร สาเหตุนี้ยังไม่ทราบกลไกของการแพ้อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นเพราะร่างกายถูกกระตุ้นมากขึ้นจากการออกกำลังกาย ทำให้มีการหลั่งสารฮีสตามีนออกมา ก็จะเริ่มมีอาการคัน รู้สึกเบาศีรษะ หรือหอบ ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ จึงควรเว้นระยะระหว่างการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง
ลักษณะอาการแพ้อาหาร
1. อาการเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารนั้นไป 2-3 นาที ถึง 1 ชั่วโมง อาหารส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างเฉียบพลันคือ อาหารทะเล หลังรับประทานไปแล้วก็อาจจะเกิดการคันคอ ปาก จมูก และตา ปากบวม หนังตาบวม ลมพิษพุพอง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หมดสติ เป็นต้น เมื่อพบผู้เกิดอาการเช่นนี้ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
2. อาการที่เกิดอย่างช้าๆ จะเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารนั้นเข้าไปนานกว่า 1-24 ชั่วโมง อาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างช้าๆ ได้แก่ ไข่ นม ข้าวสาลี เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ลมพิษพุพอง ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ เป็นต้น
เคยรับประทานอาหารชนิดนี้มาแล้วหลายครั้ง ทำไมเพิ่งเกิดอาการแพ้?
กรณีเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ โดยอาจเกิดจาก
1. สุขภาพของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป
2. การรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้แพ้ในภายหลังได้เช่นกัน เพราะร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่มีต่อสารที่รับเข้ามา
หรืออาจเป็นไปได้เช่นกันว่า ไม่ใช่อาการแพ้ แต่เป็นสาเหตุอื่นที่ก่อให้เกิดอาการคล้ายกับการแพ้อาหารมาก จนทำให้หลายคนเข้าใจผิด ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อต่อไป
สาเหตุที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการแพ้อาหาร
หลายคนเกิดการเข้าใจผิดว่าตนเองแพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ทำให้เลิกทานอาหารชนิดนั้นไปโดยสิ้นเชิง แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกหลายสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย ซึ่งคล้ายกับอาการแพ้อาหารแทบทุกประการ ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดปกติใดๆ ก็ควรตรวจสอบหาสาเหตุให้แน่ชัด เพื่อที่จะได้ทำการรักษาอย่างถูกวิธี
สาเหตุของการเข้าใจผิด อาจเป็นไปได้ดังนี้
1. อาการรับอาหารบางชนิดไม่ได้
การรับอาหารบางชนิดไม่ได้ สามารถก่อให้เกิดอาการที่เหมือนกับการแพ้อาหารอย่างมาก แต่สาเหตุของอาการแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากความบกพร่องของสารบางชนิดในร่างกาย หรือการไม่ถูกกันระหว่างสารในร่างกายกับสารบางชนิดในอาหาร เช่น ผงชูรส ทำให้เกิดอาการร้อน ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก อ่อนแรง หรือหงุดหงิดในบางคน, สารซัลไฟต์ (Sulfites) ที่ใช้ใส่ให้อาหารกรอบหรือป้องกันเชื้อรา หากมีปริมาณมากก็อาจทำให้หอบหืดได้ หรือสารอื่นๆ เช่น สารแต่งสี, สารถนอมอาหารอย่าง โซเดียมเบนโซเอต (Sodium Benzoate) และ โซเดียมไนเตรท (Sodium Nitrate), สารฟอร์มาลีน (Formalin) ในอาหารสด โดยเฉพาะอาหารทะเลจากแหล่งที่ไม่มีคุณภาพ เป็นต้น
เกิดจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร อย่างเช่นอาหารทะเลที่ถูกทิ้งไว้นานก่อนนำมาปรุง ถ้าเริ่มจะเสียแล้วก็จะมีสารฮีสตามีนเจริญเติบโตขึ้นได้ ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดการแพ้อาหารนั่นเอง3. สาเหตุทางจิต
สาเหตุทางจิตก็สามารถทำให้ร่างกายเกิดการต่อต้านอาหารได้ เช่น ในวัยเด็กไม่ชอบอาหารบางชนิด หรือมีเหตุการณ์ทำให้กลัวอาหารนั้นจนฝังใจ เมื่อรับประทานเข้าไปก็จะเกิดอาการคล้ายคลึงกับการแพ้อาหารได้เช่นกัน4. โรคอื่นๆ
พวกโรคในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เช่น ลำไส้อักเสบ แผลและมะเร็งในทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งทำให้มีการอาเจียน อุจจาระร่วง หรือปวดท้องเมื่อรับประทานอาหาร
การเข้าใจผิดในชนิดของอาหารที่แพ้
กรณีเข้าใจผิดในชนิดของอาหารที่แพ้ก็อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรับประทานอาหารทะเลหลายชนิด แล้วเกิดอาการแพ้ หลายคนอาจจะเหมารวมว่าตนเองแพ้อาหารทะเลทั้งหมด แต่แท้จริงแล้วอาจแพ้เพียงชนิดเดียวเท่านั้น หรือในกรณีที่รับประทานกุ้งทะเลหรือกุ้งน้ำจืดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วพบว่าตนเองแพ้ ก็อาจจะเหมารวมว่าตนเองแพ้กุ้งทั้งสองชนิด แต่ที่จริงแล้วในกุ้งสองชนิดมีสารที่แตกต่างกัน กุ้งน้ำจืดมีสารที่สามารถก่อภูมิแพ้ได้ คือ โปรตีนฮีโมไซยานิน (Haemocyanin Protein) ส่วนในกุ้งทะเลจะเป็นสารโปรตีนลิพิด บายดิง (Lipid–Binding Protein) และโปรตีน แอลฟาแอกตินิน (Alpha Actinin Protein)
อีกกรณีตัวอย่างที่คุณหมอท่านหนึ่งได้นำมาแบ่งปันผ่านบทความออนไลน์ คือ มีคุณแม่พาลูกสาวมาพบคุณหมอท่านนี้ เนื่องจากได้พาลูกสาวไปทะเล และมีการรับประทานอาหารทะเลกัน หลังจากนั้นลูกสาวก็เกิดอาการแน่นหน้าอก เนื้อตัวแดง หายใจไม่สะดวก จึงรีบพาไปโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น เมื่อกลับจากทะเลจึงพาลูกสาวมาพบคุณหมอท่านนี้อีกครั้งเพื่อปรึกษาอาการ เพราะลูกสาวเคยรับประทานอาหารทะเลมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่พบอาการแพ้มาก่อน เมื่อคุณหมอได้ทำการตรวจจึงพบว่าแท้จริงแล้วเด็กแพ้แป้งสาลี และในวันนั้นได้รับประทานกุ้งชุบแป้งทอดไปในปริมาณมาก
ดังนั้น เมื่อเกิดอาการแพ้อาหาร จึงควรมีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นอาหารชนิดใด เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงได้อย่างถูกต้อง ซึ่งวิธีการตรวจสอบจะอธิบายในหัวข้อถัดไป
การดูแลผู้เกิดอาการแพ้อาหาร
กรณีที่อาการแพ้ไม่รุนแรง
เช่น มีเพียงอาการคันตามเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน ควรปฏิบัติดังนี้
1. ปฐมพยาบาลเบื้องต้น พยายามทำให้ปริมาณของสารที่แพ้ลดน้อยลง เช่น ล้วงลำคอเพื่อให้อาเจียน หรือดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับออกทางปัสสาวะ
2. รับประทานยาแก้แพ้ โดยสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยา
3. ตรวจหาอาหารที่เป็นสาเหตุ กรณีที่อาการแพ้น้อยมาก ก็อาจทำการตรวจด้วยตนเอง โดยการลองรับประทานอาหารที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุอีกครั้ง แต่หากเกรงว่าจะมีการแพ้รุนแรง หรือไม่แน่ใจในการตรวจด้วยตนเอง ก็ควรให้แพทย์เป็นผู้ทำการตรวจให้
*หมายเหตุ วิธีนี้สำหรับผู้ที่มั่นใจว่าเป็นอาการแพ้อาหาร แต่หากมีอาการนี้เป็นครั้งแรก แม้จะไม่รุนแรง ก็ไม่ควรด่วนสรุปว่าตนเองเป็นอะไร และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด
เช่น มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ควรปฏิบัติดังนี้
1. รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที การแพ้อาหารนั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงควรนำส่งโรงพยาบาลทันที โดยระหว่างทางหรือระหว่างรอรถพยาบาล ก็ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือทำให้สารลดน้อยลงโดยการล้วงลำคอให้อาเจียน หรือดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับออกทางปัสสาวะ
2. แพทย์ทำการรักษาตามอาการ
3. ตรวจหาอาหารที่เป็นสาเหตุ กรณีที่คนไข้มีอาการแพ้หนักมาก แพทย์อาจจะนำสารของอาหารชนิดต่างๆ มาทดสอบผ่านผิวหนัง โดยสะกิดผิวให้เป็นรอยถลอกเล็กๆ พอให้สารซึมลงไปได้ แล้วหยดสารลงบนผิวหนัง จากนั้นรอประมาณ 20 นาทีก็จะทราบผล โดยจะมีการแสดงออกมาทางผิวหนัง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการคันบนผิวหนังอยู่แล้วนั้น อาจต้องใช้การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุแทน
การรักษาให้หายขาดทำได้หรือไม่?
การรักษาอาการแพ้อาหาร ทำได้เพียงรักษาไปตามอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น เช่น ให้ยาแก้แพ้ และยากลุ่มสเตียรอยด์ แต่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้ จึงต้องงดรับประทานอาหารที่แพ้ อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาการแพ้ก็อาจหายไปในภายหลังได้
สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีอาการแพ้หนักมาก อาจลองรับประทานอาหารนั้นอีกครั้งหลังจากงดไปแล้ว 3 – 5 ปี แต่ในกรณีที่แพ้อย่างรุนแรง ก็ควรให้แพทย์เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
ขอบคุณบทความจาก: www.boxoffish.com
แหล่งข้อมูล
oknation.net/blog/ION/
เกร็ดความรู้.net
healthcarethai.com
inderm.go.th
club.sanook.com
health.kapook.com
home.kku.ac.th