บุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงโรคปอดโรคหัวใจไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา
ผลจากงานวิจัยชี้ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อร่างกายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา ควันของบุหรี่ไฟฟ้ามีความละเอียดทำให้สูดเข้าสู่ปอดได้ลึกกว่า เสี่ยงโรคปอด โรคหัวใจ ไม่แตกต่างกับการสูบบุหรี่แบบธรรมมดา
ปัจจุบันมีนักสูบหลายคนเปลี่ยนพฤติกรรมจากการสูบบุหรี่ธรรมดามาสูบบุหรี่ไฟฟ้า หลังได้ยินคำกล่าวอ้างว่า ควันบุหรี่ไฟฟ้ามีแต่ไอน้ำกับนิโคติน สูบแล้วไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือมีผลกระทบน้อย แถมยังมีสรรพคุณในการช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ แต่แท้จริงแล้วนี่เป็นเพียงคำอวดอ้างสรรพคุณในทางการตลาดเท่านั้น เพราะ “บุหรี่ไฟฟ้า” ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่ได้กล่าวอ้างไว้
ศ. นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ข้อมูลว่า มีงานวิจัยของ The State University of New York (SUNY) ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกด้านการวิจัยโรคมะเร็ง พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คนเข้าใจกัน โดยเฉพาะต่อวัยรุ่นที่สมองยังโตไม่เต็มที่ แต่สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะไปทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองได้
ส่วนที่หลายฝ่ายเข้าใจว่า ควันบุหรี่ไฟฟ้ามีแต่ไอน้ำกับนิโคติน ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และวัยรุ่นนิยมสูบเพราะว่ามีควันเยอะดีนั้น ศ. นพ.ประกิต ชี้แจงว่า ความเข้าใจตามที่ผู้ขายกล่าวอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยควันไอน้ำจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและที่ผู้สูบพ่นออกมาจำนวนมากนั้น นอกจากไอน้ำและนิโคตินแล้วยังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกมากมาย
โดยจากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พบสารโพรพิลีน ไกลคอล เมนทอล ไซโคลเฮกซานอล ไตรอะซิติน อนุพันธ์เบนซีน ตะกั่ว และสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม สารหนู และแคดเมียม
ทั้งนี้การวิจัยพบว่า ไอระเหยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีขนาดอนุภาคที่เล็กมากกว่าอนุภาคในควันบุหรี่ธรรมดา ทำให้มีลักษณะเป็นควันละเอียดที่ถูกสูดเข้าสู่ปอดได้ลึกมาก อนุภาคที่เล็กมากนี้ส่วนหนึ่งจะจับกับเนื้อเยื่อปอดไม่สามารถที่จะถูกขับออกมาจากปอดได้ และส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว
แม้ว่าสารก่อมะเร็งที่พบในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าจะมีน้อยชนิดกว่าในควันบุหรี่ธรรมดา และเป็นไปได้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา แต่ทว่าเมื่อทำการวิจัยในหนูทดลอง โดยให้หนูหายใจเอาไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปวันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน เมื่อผ่านไป 4 เดือน พบว่าเยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอดมีการหลั่งสารเคมีที่บ่งบอกถึงการได้รับความระคายเคืองของเนื้อเยื่อ และมีการทำลายของเนื้อเยื่อปอด ซึ่งเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงระยะแรกของโรคถุงลมโป่งพองในหนูที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา (Garcia-Arcos วารสาร Thorax 24 สิงหาคม 2559)
ขณะเดียวกัน บุหรี่ไฟฟ้า ยังมีผลกระทบต่อเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด เพราะจากงานวิจัยที่ได้ให้หนูทดลองสูดควันไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปเพียง 10 ครั้ง สามารถตรวจพบเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดที่ตายและหลุดลอยอยู่ในกระแสเลือดเป็นจำนวนมาก (L.Antonie Wiz วารสาร Atherosclerosis 2016) เช่นเดียวกับการตรวจพบในเลือดคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา ขณะที่การวัดความยืดหยุ่นของหลอดเลือดก็พบว่าลดลงหลังการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว
ศ. นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปอดและเซลล์บุหลอดเลือดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมือนกับการตรวจพบในการสูบบุหรี่ธรรมดา ต้องมีการศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งจะแพร่หลายเป็นเวลาไม่ถึงสิบปีมานี้เอง
ศ. นพ.ประกิต มองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่หันมามีพฤติกรรมสูบบุหรี่ อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ใหญ่กว่า 80% ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเปลี่ยนพฤติกรรมกลายเป็นคนที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา มีเพียง 10% เท่านั้นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว
ส่วนที่อ้างว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้นั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน กลับกลายเป็นว่าคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาสามารถเลิกบุหรี่ได้มากกว่ากลุ่มที่เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสียอีก ซึ่งเป็นไปได้ว่าเพราะคนเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าจึงไม่คิดจะเลิกสูบบุหรี่ ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่ายอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย และขอเรียกร้องให้เยาวชนอย่าใช้ตัวเองเป็นเครื่องทดลองอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหากเกิดการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว จะเลิกสูบยากเช่นเดียวกับการเสพติดบุหรี่ธรรมดา
สำหรับบุหรี่ไฟฟ้านั้นจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 เนื่องจากมีการซื้อ-ขายง่ายและเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
voicetv
thorax.bmj.com