fbpx skip to Main Content

ปากนกกระจอก ขาดวิตามินอะไร รักษาอย่างไร.

ปากนกกระจอก ขาดวิตามินอะไร รักษาอย่างไร มีสาเหตุอื่นอีกไหม??

ปากนกกระจอก (Angular Cheilitis หรือ Angular Stomatitis) เป็นโรคที่มีแผลเปื่อยที่บริเวณมุมปาก โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ข้าง เป็นโรคที่ไม่อันตราย ไม่ติดต่อ และรักษาได้อย่างง่ายดาย

อาการเด่นของโรคปากนกกระจอก

  • มีแผลที่มุมปาก มุมปากแตก (fissures)
  • มีตุ่มน้ำใส (blisters) หรือมีผิวที่บริเวณมุมปากลอก
  • รอบ ๆ รอยแตกของผิวหนัง อาจพบรอยแดง และอาจมีเลือดออกที่บริเวณรอยแตกได้

โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยของปากนกกระจอก เกิดจากการทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (riboflavin) ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

วิตามินบี 2 (Vitamin B2 หรือ Riboflavin)

วิตามินบี 2 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ (water soluble vitamin) เป็นวิตามินที่ถูกดูดซึมได้ง่าย และมักพบว่าเป็นวิตามินที่มักจะขาดในคนอเมริกัน

แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 2

ถ้ารู้แล้วว่า ปากนกกระจอก ขาดวิตามินอะไร การทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 ก็จะช่วยป้องกันและรักษาโรคปากนกกระจอกได้

อาหารที่มีปริมาณของวิตามินบี 2 สูง ได้แก่

  • อาหารที่มีส่วนผสมของยีสต์ เช่น ขนมปัง
  • เมล็ดอัลมอนด์
  • เครื่องในสัตว์
  • ธัญพืช
  • ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ
  • เห็ด
  • ถั่วเหลือง
  • นม โยเกิร์ต
  • บล็อกโคลี่
  • ผักโขม

ความต้องการวิตามินบี 2*

วัยเด็กถึงวัยรุ่น

ทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน 0.3 mg (adequate intake)

ทารก 7 ถึง 12 เดือน 0.4 mg (adequate intake)

เด็ก 1 ถึง 3 ปี 0.5 mg (RDA)

เด็ก 4 ถึง 8 ปี 0.6 mg (RDA)

เด็ก 9 ถึง 13 ปี 0.9 mg (RDA)

วัยรุ่น (ชาย) 14 ถึง 18 ปี 1.3 mg (RDA)

วัยรุ่น (หญิง) 14 ถึง 18 ปี 1 mg (RDA)

ผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่ (ชาย) 19 ปีขึ้นไป 1.3 mg (RDA)

ผู้ใหญ่ (หญิง) 19 ปีขึ้นไป 1.1 mg (RDA)

หญิงตั้งครรภ์ 1.4 mg (RDA)

หญิงให้นมบุตร 1.6 mg (RDA)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคุณอาจจะรู้แล้วว่า ปากนกกระจอก ขาดวิตามินอะไร แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดปากนกกระจอกขึ้นได้ เช่น

  • การขาดสารอาหารบางชนิดที่นอกเหนือจากวิตามินบี 2 เช่น ธาตุเหล็ก
  • การติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น เชื้อราแคนดิดา (Candida albicans) เชื้อแบคทีเรีย รวมถึงเชื้อไวรัส
  • ในคนสูงอายุที่ไม่มีฟัน อาจเกิดจากการมีรูปปากที่ผิดปกติ มีการกดทับที่บริเวณมุมปาก เนื่องจากไม่มีฟัน การกดทับเวลานาน อาจทำให้เกิดความระคายเคือง เกิดความอับชื้นสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดปากนกกระจอกตามมาได้
  • บ่อยครั้งที่การแพ้เครื่องสำอาง อาหาร ยาสีฟัน อาจทำให้เกิดแผลที่มุมปาก แต่ส่วนใหญ่แล้ว ในกรณีนี้มักพบว่าอาการแพ้มักเกิดขึ้นทั่วทั้งริมฝีปาก
  • ภาวะ Hypersalivation หรือภาวะที่มีน้ำลายไหลออกมากกว่าปกติ การที่มีน้ำลายออกมามาก จะทำให้เกิดความอับชื้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของปากนกกระจอก
  • การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ผิวหน้าแห้ง โดยเฉพาะยารักษาสิวในกลุ่มกรดวิตามินเอ ซึ่งผิวหนังที่แห้ง จะทำให้มีแผลที่มุมปากเกิดขึ้นได้ง่าย

สำหรับสาเหตุอื่น ๆ ของปากนกกระจอก ที่นอกเหนือจากการขาดวิตามินบี 2 แล้ว การรักษาก็ต้องทำการรักษาด้วยการกำจัดสาเหตุนั้น ๆ เช่น การใช้ยาทาฆ่าแบคทีเรียหรือเชื้อรา การใช้ครีมสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ หรือการใช้ลิปสติกมัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ในกรณีที่ปากนกกระจอกเกิดจากริมฝีปากที่แห้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.catpick.com/

Back To Top