ภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน
ภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS) นั้นเป็นเรื่องกวนใจในคนวัยสาวไปจนถึงวัยทำงานเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่เป็นแต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีอาการ มากบ้างน้อยบ้างตามวาสนาของแต่ละคน อาการดังกล่าวนี้ แบ่งได้เป็น 2 จำพวกคือ อาการทางกาย และอาการทางจิตใจหรืออารมณ์
อาการทางกาย ได้แก่ ตัวบวม อึดอัด เจ็บคัดตึงเต้านม ปวดตามเนื้อตัว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเหมือนเป็นไข้ต่ำๆ ส่วนอาการทางจิตใจหรืออารมณ์นั้นได้แก่ หงุดหงิดง่าย อ่อนไหว ขี้น้อยใจ เศร้าง่ายกว่าปกติ หรืออารมณ์เหวี่ยง (แบบภาษาสมัยใหม่เค้าว่ากัน) ผิดปกติจนเจ้าตัวหรือคนใกล้ชิดสังเกตได้ว่า นี่ใกล้มีประจำเดือนแล้วใช่ไหม? ถึงได้มีอาการแบบนี้ ถ้าหากอาการมีมากจนถึงขนาดทำให้เจ้าตัวมีปัญหาหรือใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างยากลำบาก เช่น นอนไม่หลับ มีปัญหาความสัมพันธ์กับครอบตัว ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ไม่มีสมาธิในการทำงาน ก็เป็นความผิดปกติที่ต้องรับการรักษา และมีวินิจฉัยว่า Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD) ซึ่งจะพบได้ 3-8% ของผู้หญิงในวัยที่มีประจำเดือน
สำหรับคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายที่ใกล้ชิด คุณเคยสังเกตตัวคุณเองหรือคนใกล้ชิดบ้างไหมคะ ว่าก่อนที่คุณจะมีประจำเดือนสักสองสัปดาห์คุณมีอาการอย่างนี้รึเปล่า ?
1. รู้สึกซึมเศร้าหมดหวัง อาจจะมีความคิดทำร้ายตัวเอง
2. มีความวิตกกังวลและเครียด
3. อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย และอาจจะร้องไห้
4. อารมณ์ไม่มั่นคงโกรธคนอื่นง่าย
5. ไม่สนใจชีวิตประจำวันและไม่สนใจคนอื่น
6. ไม่มีสมาธิในการทำงาน
7. อ่อนเพลียขาดพลังงานในการทำงาน
8. กินจุ กินบ่อย
9. นอนไม่หลับ
10. ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง
11. อาการทางกายได้แก่ แน่นท้อง เจ็บเต้านม ปวดศีรษะ ปวดข้อ
ถ้าคุณลองสำรวจตัวเองว่ามีอาการดังกล่าวอย่างน้อย 5 ข้อ ถือว่าคุณเข้าข่ายจัดเป็นโรค PMDD ค่ะ ปัจจุบันไม่มีห้องปฏิบัติการไหน หรือ lab test ใด ๆ ที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรค PMDD แม้แต่การเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิงจัดได้ว่าอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นโรคนี้ แต่ระดับฮอร์โมนดังกล่าวเช่น estrogen หรือ progesterone ก็ไม่สามารถนำมาวินิจฉัยอย่างแม่นยำได้
โรค PMDD จะวินิจฉัยได้นั้น ผู้ป่วยควรจะทำตารางจดอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบเดือน 2-3 เดือน โดยเริ่มจดตั้งแต่วันที่หนึ่งของรอบเดือนจนกระทั่งประจำเดือนมา หากมีอาการเหมือนกันและเป็นช่วงเดียวกันของรอบเดือนก็จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Premenstrual syndrome หรือPMS อ๊ะ อ๊ะ…อย่าคิดว่า อาการก่อนประจำเดือนมันเป็นเพียงอาการจิ๊บจ๊อยนะคะ หากใครโชคดีหน่อย ก็จะไม่มีอาการของโรคนี้เยอะมาก อย่างมากก็ปวดท้อง อารมณ์เสียง่ายบ่อยก็แค่นั้น แต่บางคนโชคร้ายหน่อย เป็นมากกว่านั้นค่ะ โรคนี้มันส่งผลต่อจิตใจของผู้หญิงบางราย จนเกิดโรคที่เรียกว่าอาการซึมเศร้า ผู้หญิงที่มีโรคนี้มีอาการถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย คิดว่าตัวเองไร้ค่า และไม่อยากมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อีกต่อไป
เห็นไหมคะ ว่ามันร้ายแรงแค่ไหน กับอาการที่เรารู้ไม่เท่าทัน มันทำร้ายถึงขั้นสามารถปลิดชีวิตได้ น่ากลัวนะคะ ส่วนสาเหตุที่เกิดโรคนี้ก็ยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัดค่ะ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้กล่าวว่าโรคนี้อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมน estrogen หรือ progesterone ค่ะ
คงไม่มีใครหรอกค่ะ ที่อยากจะมีอาการแบบนี้ หากใครโชคดีได้แฟนน่ารัก ที่หัดสังเกต เฝ้าติดตามพฤติกรรม แรก ๆ เขาอาจจะไม่รู้ คงจะงง ๆ ว่า นางฟ้าที่แสนน่ารักของเรา ทำไมกลายเป็นนางมารร้ายไปได้ ขี้แง ชอบชวนทะเลาะบ่อย อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อารายเนี่ยยย…แต่พอเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น เขาก็จะร้องอ๋อ….เป็นมนุษย์เมนส์ ผมยอมได้ครับ เพื่อคุณแฟนที่รักของผม เดี๋ยวก็หาย แต่ถ้าคุณแฟนที่รักเนี่ย ยังมีอาการดังกล่าวแบบเสมอต้นเสมอปลาย แม้หลังวันหมดประจำเดือนไปแล้ว…ก็คงไม่ไหวนะคะ ต้องหาทางปราบมั่งค่ะ ไม่งั้นคุณผู้ชายคงจะเป็นประสาทไปเสียก่อน แต่ถ้าหากมีแฟนไม่น่ารักแบบนั้นล่ะ ก็น่ากลัวนะคะ ดังนั้นหากคู่รักคนไหนที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงช่วงมีประจำเดือนแล้วคุณแฟนไม่ยอมเข้าใจ มันก็สามารถสร้างปัญหาให้ชีวิตคู่ได้อย่างน่ากลัว
หากใครรู้ตัวว่าเข้าข่ายเป็นโรค PMDD ก็ย่อมอยากจะหาวิธีรักษาให้หายขาดใช่ไหมคะ ปัจจุบันก็มีวิธีรักษาค่ะ มีทั้งใช้ยาและไม่ใช้ยา การใช้ยาเป็นกลุ่มยา SSRI เพื่อปรับสาร serotonin ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่รักษาอาการซึมเศร้าช่วยลดอาการหงุดหงิด เศร้า หรือเหวี่ยงได้ ส่วนอาการทางร่างกาย จะใช้ยาฮอร์โมนเพศหญิงที่มีฮอร์โมนต่ำเพื่อปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุลย์
ส่วนการรักษาที่ไม่ใช้ยา เขาแนะนำหลีกเลี่ยงพวกของหวาน กาแฟ บุหรี่ สุรา กินผัก ผลไม้ ธัญพืช หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ออกกำลังกาย เพิ่ม calcium วิตามิน B1, B6 ให้กับร่างกาย นอนพักให้เพียงพอ ลดความเครียด และวิธีที่ดีที่สุดที่หมอจะแนะนำคือ การเจริญสติค่ะ
ค่อยๆ ฝึกรับรู้ ความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ที่เกิดขึ้นให้ทันปัจจุบัน (แอบบอกให้ว่าถ้าสังเกตดีๆก่อนมีอารมณ์จะมีความคิดนำมาก่อนนะคะ) ด้วยจิตใจที่เป็นกลางๆ ไม่หลงไปเกลียด ไม่ชอบอาการที่เป็นอยู่ หรืออยากให้หายไปไวๆ เห็นมันเกิดขึ้นเอง ดับไปเองเป็นธรรมดา เหมือนประจำเดือนที่มาเองหายเองเป็นธรรมดาไงคะ ใช้อุปกรณ์แค่สองอย่างคือ กายกับใจ แต่ต้องอาศัยความเพียรฝึกทุกวัน แม้ช่วงที่ไม่มีอาการ ก็ตามรู้ตามดู อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดอย่างต่อเนื่องเท่าที่จะทำได้ รับรองถ้าPMS ไม่หาย เราก็อยู่กับมันได้อย่างสบาย เหมือนที่ทุกวันนี้อยู่กับการมีเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนได้โดยไม่ทุกข์ร้อนอะไรมากนัก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://thaipsychiatry.wordpress.com/2013/02/16/