รู้ทัน ป้องกัน ไขมันในเลือดสูง
ภาวะที่ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เนื่องจากคอเลสเตอรอลบางส่วนมีความสำคัญกับร่างกาย ทำได้เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหาร รวมถึงการใช้ยาเพื่อควบคุมระดับโคเลสเตอรอล
ไขมันในเลือดที่สำคัญ
1. ไตรกลีเซอร์ไรด์ ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองจาก น้ำตาล แป้ง แอลกอฮอล์ และส่วนหนึ่งได้รับจากอาหารที่รับประทานมาก สามารถทำให้หลอดเลือดอุดตันได้
2. โคเลสเตอรอล ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองและส่วนหนึ่งได้รับจากอาหาร แหล่งโคเลสเตอรอลในอาหารพบมากใน ไข่แดง ปลาหมึก หอยนางรม เครื่องในสัตว์ นม เนย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
2.1 โคเลสเตอรอลชนิดร้าย (แอล ดี แอลโคเลสเตอรอล / LDL) หากมีระดับสูงเกินไปจะไปสะสมที่เยื่อบุด้านในของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ตีบ หรืออุดตัน
2.2 โคเลสเตอรอลชนิดดี (เอช ดี แอลโคเลสรอล / HDL) เป็นชนิดที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่นำโคเลสเตอรอลที่เหลือไปทำลายที่ตับ ป้องกันการเกิดภาวะเลือดแดงแข็ง
การมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิด ๆ ก่อให้เกิดภาวะโคเลสเตอรอลสูงได้ โดยพฤติกรรมที่กระตุ้นให้ระดับโคเลสเตอรอลสูงขึ้นคือ
- การรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง ส่งผลโดยตรงต่อระดับโคเลสเตอรอล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องในสัตว์หรือไข่ ก็ล้วนแต่มีโคเลสเตอรอลที่ไม่ดีในปริมาณที่สูง
- ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลงจะทำให้ระดับโคเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) สูงขึ้น จนทำให้ระดับโคเลสเตอรอลสูง
- โรคอ้วน ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางสุขภาพ และทำให้แนวโน้มที่ระดับโคเลสเตอรอลที่ไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์จะสูงขึ้น รวมถึงทำให้ระดับโคเลสเตอรอลที่ดีลดต่ำลงอีกด้วย
- ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป นอกจากทำลายตับแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักก็ยังส่งผลต่อระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้
- การสูบบุหรี่ สารเคมีจากบุหรี่เป็นตัวการสำคัญที่เข้าไปขัดขวางการทำงานของโคเลสเตอรอลชนิดที่ดี ทำให้โคเลสเตอรอลเตอรอลส่วนเกินไม่สามารถลำเลียงไปยังตับได้ เป็นเหตุให้หลอดเลือดตีบเนื่องจากการสะสมของโคเลสเตรอลที่ผนังหลอดเลือดและกลายเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งในที่สุด
ปัญหาสุขภาพ – เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะโคเลสเตอรอลสูง โดยผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีโคเลสเตอรอลสูงได้ง่าย เช่น
- ความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคไต
- โรคตับ
- โรคต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง (Underactive Thyroid)
การรักษาจะต้องทำควบคู่กับการควบคุมโรคเหล่านี้ด้วยเพื่อให้ระดับโคเลสเตอรอลลดลงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น โคเลสเตอรอลสูงยังสามารถเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ได้ โดยจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ ทำให้เป็นโรคไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม (Familial Hypercholesterolemia) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีภาวะโคเลสเตอรอลสูงตั้งแต่กำเนิดที่จะนำไปสู่โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงแข็งและโรคหลอดเลือดหัวใจได้เร็วกว่าคนทั่วไป
ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะโคเลสเตอรอลสูง และเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ได้แก่
- ประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองภายในครอบครัว ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นภาวะนี้ จะทำให้เสี่ยงกว่าคนปกติ
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงก็ยิ่งมากขึ้น
- เพศ ภาวะคอเลสเตอรอลสูงมักเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง
หากมีปัจจัยเสี่ยงคงที่เหล่านี้แล้ว ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโคเลสเตอรอลสูงที่อาจเกิดขึ้นก่อนวัยอันควร
การวินิจฉัยโคเลสเตอรอลสูง
ในปัจจุบัน สามารถตรวจวินิจฉัยภาวะโคเลสเตอรอลสูงได้ด้วยวิธีการตรวจเลือดเท่านั้น โดยการตรวจจะถูกรวมอยู่ในการตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile) ซึ่งจะแสดงให้เห็นระดับโคเลสเตอรอลที่ไม่ดี โคเลสเตอรอลที่ดี และไตรกลีเซอไรด์ได้ในคราวเดียว โดยผู้ที่ควรได้รับการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดได้แก่
- มีอายุมากกว่า 40 ปี
- มีน้ำหนักเกิน หรืออยู่ในภาวะอ้วน
- มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคเกี่ยวระบบหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร
- มีสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดป่วยด้วยโรคไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม
- ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack: TIA) หรือโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral Artery Disease: PAD)
- มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง (Underactive Thyroid) หรือตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
ทั้งนี้ก่อนเข้ารับการตรวจวัดระดับไขมันในเลือด จะต้องอดอาหารอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยอาหารที่กินเข้าไปได้หมด และระดับไขมันในอาหารจะไม่ส่งผลกระทบต่อการตรวจ หลังจากนั้น แพทย์จะเจาะเลือดและนำผลที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเกณฑ์วัดระดับโคเลสเตอรอลโดยคร่าวระบุไว้ดังนี้
ระดับโคเลสเตอลชนิดที่ไม่ดี (LDL Cholerterol)
- ปกติ: น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ใกล้เคียงปกติ: 100-129 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูงเล็กน้อย: 130-159 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูง: 160-189 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูงมาก: มากกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับโคเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol)
- ปกติ: น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูงเล็กน้อย: 200-239 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูง: มากกว่า 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับโคเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL Cholesterol)
- ต่ำ: น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูง: มากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
- ปกติ: ต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูงเล็กน้อย: 150-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูง: 200-499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- สูงมาก: มากกว่า 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์นี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีภาวะโคเลสเตอรอลสูงหรือไม่ เพราะอาจต้องประเมินระดับไขมันเป็นรายบุคคลเพื่อดูความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มด้วย จากนั้นแพทย์จึงจะสามารถทำการรักษาต่อไปได้
ในการสรุปผลการตรวจ จะดูที่ระดับโคเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีเป็นหลัก หากมีระดับที่สูงแปลว่าผู้ป่วยมีโคเลสเตอรอลสูง ขณะที่ระดับโคเลสเตอรอลรวม หากมีอยู่ในระดับสูงก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดภาวะโคเลสเตอรอลสูงหรือไม่ แต่อาจระบุได้ว่ามีความผิดปกติ จะต้องดูที่ระดับโคเลสเตอรอล LDL ร่วมด้วย ส่วนระดับโคเลสเตอรอลที่ดี หากมีเยอะก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพเพราะจะกำจัดโคเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีให้ลดลงได้
การรักษาโคเลสเตอรอลสูง
การรักษาเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีผลวินิจฉัยแน่ชัดแล้วว่าผู้ป่วยมีระดับโคเลสเตอรอลสูง โดยการรักษาอาจใช้เพียงการดูแลเรื่องอาหารให้ดีขึ้นหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่บางรายอาจต้องใช้การรักษาด้วยยาควบคู่กันไปด้วยเพื่อช่วยให้ระดับโคเลสเตอรอลค่อย ๆ ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดูแลตัวเองในเบื้องต้นทำได้ดังนี้
- ออกกำลังกายให้มากขึ้น เป็นหนึ่งในวิธีการลดระดับโคเลสเตอรอล LDL และเพิ่มปริมาณโคเลสเตอรอล HDL เพราะเมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายก็จะสร้างโคเลสเตอรอลชนิดที่ดีมากำจัดโคเลสเตอรอลที่ไม่ดีออกไป อีกทั้งยังช่วยให้เลือดสูบฉีดได้ดี และทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย โดยเวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสมคือการออกกำลังกายที่หนักปานกลางสัปดาห์ละ 2.5 ชั่วโมง
- ควบคุมน้ำหนัก สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะอ้วน การลดน้ำหนักจะช่วยให้การควบคุมระดับโคเลสเตอรอลทำงานได้ดีขึ้นในระยาว
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การรับประทานอาหารที่ดีกับสุขภาพมากขึ้นจะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลได้ โดยเปลี่ยนจากการรับประทานแป้งขาวมารับประทานแป้งโฮลวีตหรือธัญพืชอื่น ๆ รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น อีกทั้งยังควรรับประทานอาหารที่มีพลังงานไม่สูงมากนัก ในแต่ละมื้อควรมีสารอาหารครบทุกหมู่ รวมทั้งมีสัดส่วนและปริมาณของคอเลสเตอรอลที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารทอดและอาหารจากไขมันแปรรูป เช่น เนยเทียม (Margarine) เพราะเป็นอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง หากรับประทานในปริมาณมากก็จะทำให้ระดับโคเลสเตอรอล LDL เพิ่มสูงตามไปด้วย
- ควบคุมปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงจะช่วยให้ตับถูกทำลายน้อยลง อีกทั้งยังทำให้ตับสามารถทำงานได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสมกับเพศและวัยจะดีที่สุด
- เลิกสูบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยให้โคเลสเตอรอลชนิดที่ดีทำงานได้ดียิ่งขึ้น
การใช้ยา
การรักษาโคเลสเตอรอลสูงด้วยยาจะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีเงื่อนไขสุขภาพ อายุ ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือความแข็งแรงของผู้ป่วยในขณะนั้น เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยยาที่แพทย์ในประเทศไทยมักสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยที่มีภาวะโคเลสเตอรอลสูงได้แก่
- ยากลุ่มสเตติน (Statins) ยาในกลุ่มนี้ที่มีใช้ในประเทศไทยได้แก่ ซิมวาสเตติน (Simvastatin) อะทอร์วาสเตติน (Atorvastatin) และโรสุวาสเตติน (Rosuvastatin) เป็นยาที่ใช้ในการควบคุมระดับโคเลสเตอรอล โดยกลไกของยาจะเข้าไปขัดขวางสารบางชนิดที่ตับใช้เพื่อผลิตโคเลสเตอรอล ซึ่งจะช่วยให้ตับกำจัดโคเลสเตรอลในเลือดได้มากขึ้น
- ยากลุ่มไฟเบรต (Fibrate) ได้แก่ ยาฟิโนไฟเบรต (Fenofibrate) และยาเจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil) เป็นยาที่เข้าไปช่วยลดปริมาณการผลิตโคเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีและช่วยเร่งกระบวนการกำจัดไตรกลีเซอไรด์ออกจากร่างกาย
- ยาอีเซทิไมบ์ (Ezetimibe) ยาลดไขมันที่มีคุณสมบัติในการขัดขวางการดูดซึมโคเลสเตอรอลจากอาหารและในน้ำย่อยภายในลำไส้เข้าสู่เลือด เป็นยาที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายากลุ่มสเตติน และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยยาชนิดนี้มักใช้กับผู้ที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่มสเตตินได้ หรือผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจนต้องเปลี่ยนยา
- อาหารเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 Fatty Acid Supplements) กรดไขมันโอเมก้า 3 จัดเป็นไขมันชนิดดีที่อาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้
ในการใช้ยาเหล่านี้ แพทย์จะต้องทำการติดตามผลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์ตามนัดและเอาใจใส่เรื่องการเลือกรับประทานอาหารให้มากขึ้นและออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ระดับโคเลสเตอรอลลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาวะแทรกซ้อนของโคเลสเตอรอลสูง
ภาวะโคเลสเตอรอลสูงอาจไม่ส่งผลให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน แต่จะค่อย ๆ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือผู้ป่วยไม่ดูแลและควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยโรคที่สามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีโคเลสเตอรอลสูง ได้แก่ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเกิดจากการที่โคเลสเตอรอลไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดจนหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น และทำให้หลอดเลือดแดงตีบลงจนกลายเป็นสาเหตุของอาการต่อไปนี้
- หัวใจขาดเลือด เมื่อไขมันในเส้นเลือดสะสมอยู่ภายในหลอดเลือดจนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้เต็มที่ ก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกซึ่งเป็นสัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต
- โรคหลอดเลือดสมอง เช่นเดียวกับอาการหัวใจวาย เมื่อหลอดเลือดตีบลงเนื่องจากไขมันในเลือด การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะลดลง ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
นอกจากจะส่งผลต่อระบบหลอดเลือดหัวใจและสมองแล้ว ก็ยังอาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง ที่เป็นอันตรายไม่แพ้กัน และสามารถส่งผลกับไตจนเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้ เพราะเมื่อหลอดเลือดในร่างกายรวมทั้งหลอดเลือดที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงไตตีบลงเนื่องจากไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือด ก็จะทำให้ไตสูญเสียการทำงานและวายในที่สุด
การป้องกันโคเลสเตอรอลสูง
โคเลสเตอรอลสูงสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และพฤติกรรมในการใช้ชีวิตบางอย่าง อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไขมันอิ่มตัวสูงในปริมาณมาก เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป ของทอด ผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานซ์ ได้แก่ อาหารที่มีส่วนประกอบ หรือใช้น้ำมันเติมไฮโดรเจนในการปรุง เช่น อาหารขยะ ครีมเทียม มาการีน ขนมขบเคี้ยว และอาหารแปรรูปแช่แข็ง เป็นต้น
- รับประทานไขมันดีในปริมาณที่พอเหมาะ ร่างกายไม่สามารถขาดไขมันได้ จึงควรหันมารับประทานไขมันดีในปริมาณที่พอเหมาะ โดยไขมันดีในอาหารได้แก่ ถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด ปลาทะเลน้ำลึก เป็นต้น
- รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้น มีกากใยในปริมาณมากอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีในร่างกาย และช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีให้ลดลงได้
- ควบคุมน้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักตัวมากก็จะยิ่งทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงต่าง ๆ รวมถึงภาวะคอเลสเตอรอลสูง ดังนั้นการมีน้ำหนักที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันระดับคอเลสเตอรอลสูงและโรคร้ายแรงอื่นได้
นอกจากนี้การเลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะช่วยให้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะโคเลสเตรอลสูง รวมถึงโรคเกี่ยวหัวใจและหลอดเลือดลดลงได้อีกด้วย การเข้ารับการตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลเป็นประจำจะช่วยให้สามารถจัดการกับความเสี่ยงของโคเลสเตอรอลสูงได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.sriphat.med.cmu.ac.th, www.pobpad.com, www.health.kapook.com