fbpx skip to Main Content
ซึมเศร้า

รู้และเข้าใจ”โรคซึมเศร้า”

รู้และเข้าใจ”โรคซึมเศร้า”

ซึมเศร้า

ซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าคืออะไร

ถ้าพูดถึงเรื่องซึมเศร้าเรามักจะนึกกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งตามจริงแล้ว ที่เราพบกันในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาๆ ที่มีกันในชีวิตประจำวัน มากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตามในบางครั้ง ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการต่างๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ก็อาจจะเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว

โรคซึมเศร้า เป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ มีอาการหลักคือ คือ

1) อารมณ์เศร้า ท้อแท้ ซึม หงอยทั้งที่ตัวเองรู้สึกหรือคนอื่นก็สังเกตเห็น

2) เบื่อ ไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม

มีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน แต่ได้รับการตรวจรักษาเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น โรคซึมเศร้ารักษาหายได้…รักษาด้วยยาต้านเศร้าอย่างน้อย 6-9 เดือน หรือรักษาด้วยจิตบำบัด

ลักษณะอาการโรคซึมเศร้า

1) เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป
2) หลับยาก หลับๆตื่นๆ หรือหลับมากไป
3) คิดช้าพูดช้า ทำอะไรช้าลง หรือหงุดหงิด กระวนกระวาย ไม่สามารถอยู่นิ่งได้
4) รู้สึกอ่อนเพลียเหนื่อยใจ ไม่มีแรง
5) รู้สึกตนเองไร้ค่า
6) สมาธิ ความคิดอ่านช้าลง
7) คิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง อาการเหล่านี้เป็นอยู่เกือบทั้งวัน เป็นติดต่อกันจนถึง 2 สัปดาห์ และทำกิจวัตรประจำวัน เข้าร่วมกิจกรรมด้านสังคม ทำหน้าที่การงานไม่ได้เหมือนเดิม หรือมีความทุกข์ทรมานใจอย่างเห็นได้ชัด

 

หากท่านมีภาวะซึมเศร้า… สามารถป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดย…

– คุยกับคนที่ไว้ใจ เกี่ยวกับอารมณ์เศร้า และเรื่องที่ทำให้เศร้า หลายคนรู้สึกดีขึ้นหลังจากการพูดคุย

– หากิจกรรมที่เคยทำแล้วมีความสุข

– ไปมาหาสู่พบปะพูดคุยกับเพื่อน และครอบครัวบ่อยๆ และสม่ำเสมอ

– ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้เป็นการเดินระยะสั้นก็ได้ จนเหงื่อซึมไหล นาน 30 นาที

– รับประทานอาหาร และนอนให้เป็นเวลาทุกๆวัน

– ทำใจกับอาการซึมเศร้าว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนเป็นได้ ความคาดหวังในสิ่งต่างๆ อาจจะไม่เป็นไปตามที่เคยเป็น

– งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามใช้ยาเสพติด เพราะทำให้อาการซึมเศร้าเป็นมากขึ้น

– ไปพบแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรือบุคลากรสาธารณสุข ท่านจะได้รับการดูแลช่วยเหลือที่ทันท่วงที และเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการรักษา

– หากท่านคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง ให้รีบขอความช่วยเหลือจากบุคลากรสาธารณสุขโดยด่วน

– ให้ระลึกอยู่เสมอว่า การได้รับดูแลรักษาที่ถูกวิธี จะทำให้ท่านอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และหายขาด

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้หรือเปล่า

แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า (Patient Health Questionnaire; PHQ9) เป็นแบบสอบถามทีใช้เพื่อช่วยในการประเมินว่าผู้ตอบมีมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด เป็นมากจนถึงระดับที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ แบบสอบถามนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ช่วยบอกว่าภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ในระดับไหนเท่านั้น

ข้อดีอย่างหนึ่งของแบบสอบถามนี้คือสามารถใช้ช่วยในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการได้ ว่าแต่ละขณะเป็นอย่างไร อาการดีขึ้นหรือเลวลง การรักษาได้ผลหรือไม่ ผู้ป่วยอาจทำและจดบันทึกไว้ทุก 1-2 สัปดาห์ โดยถ้าการรักษาได้ผลดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยมีค่าคะแนนลดลงตามลำดับ

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยอย่ามองว่า อาการที่ผู้ป่วยแสดงออกมาเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยคิดหรือสร้างขึ้นมาเอง หรือคิดมองโลกในแง่ร้ายเอง  หรือใช้คำพูดเช่น “ไม่สู้เอง”  “ทำไมไม่ดูแลตนเอง” “ไม่เห็นมีอะไรเลยทำไมถึงเศร้า” “เรื่องแค่นี้เองทำไมถึงอ่อนแอจัง”  เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า เพราะกลัวถูกมองว่าตนเองล้มเหลว หรืออ่อนแอ หรือเป็นความผิดของตนเองจึงไม่ยอมเข้ารักษากับจิตแพทย์  แต่ควรเปิดใจรับฟังและพยายามหาทางช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ การรับฟังอย่างตั้งใจ ด้วยความเข้าใจ อดทน และห่วงใย ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริง ตลอดจนความหวัง ชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรืองานอดิเรกที่เคยให้ความสนใจ จะช่วยเป็นกำลังใจที่มีค่าต่อผู้ป่วย โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี  24 ชั่วโมง หรือรีบพามาพบจิตแพทย์ เพื่อขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

กรมสุขภาพจิต / www.who.int / www.thaidpression.com

ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ttps://health.kapook.com/view176028.html

ขอบคุณรูปภาพ

เฟซบุ๊ก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

http://www.tsood.com/contents/3001354

 

 

Back To Top