วิตามินไม่จำเป็นต้องกินทุกวัน
วิตามินเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อชีวิต แต่ต้องการปริมาณน้อยเป็นมิลลิกรัมหรือไมโครกรัมต่อวัน ร่างกายจะนำวิตามินแต่ละชนิดไปสร้างสารช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ในร่างกาย
ปกติแล้วสิ่งมีชีวิตสามารถสังเคราะห์วิตามินบางชนิดได้อย่างเพียงพอ ขณะที่บางชนิดก็จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร คนและสัตว์ต้องการวิตามินอย่างน้อย ๑๓ ชนิดจากอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและการทำงานที่ปกติ
เราจำแนกวิตามินออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ วิตามินที่ละลายได้ในน้ำ และวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน (มีอยู่ ๔ ชนิดเท่านั้นคือ วิตามินเอ ดี อี และ เค)
วิตามินกลุ่มที่ละลายได้ใน “น้ำ”
วิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ได้แก่ วิตามินบีต่างๆ และวิตามินซี
๑. วิตามินบี ๑ พบมากในธัญพืช ข้าวซ้อมมือ นม และเนื้อสัตว์
ถ้าขาดจะทำให้เป็นโรคเหน็บชา มือเท้าอาจจะบวม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร วิงเวียน ไม่มีแรง และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
๒. วิตามินบี ๒ พบมากในนม เนื้อสัตว์และพืชผักใบเขียว
ถ้าขาดจะเป็นโรคปากนกกระจอก คือมีแผลที่มุมปาก ลิ้นอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ เจริญเติบโตช้า
๓.วิตามินบี ๓ (ไนอาซิน) พบมากในนม ไข่ เนื้อสัตว์
ถ้าขาดจะทำให้ผิวหนังอักเสบ ท้องเดิน และสมองเสื่อม
๔.วิตามินบี ๕ (กรดแพนโทเทนิก) ช่วยในการสร้างเซลล์และลดความเครียด พบในอาหารเกือบทุกชนิดทั้งจากพืชและสัตว์ จึงไม่ค่อยพบการขาดวิตามินชนิดนี้
๕.วิตามินบี ๖ พบมากในเนื้อสัตว์ ถั่วลิสง จมูกข้าวสาลี ผักและผลไม้ ช่วยการทำงานของระบบประสาทและการสร้างเม็ดเลือด
ถ้าขาดจะอ่อนเพลีย โลหิตจาง ชาปลายมือปลายเท้า
๖.วิตามินบี ๑๒ ช่วยการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง พบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ทุกชนิด (เนื้อสัตว์ นม เนย) ร่างกายมีความต้องการในวันหนึ่งๆ ต่ำมากในระดับไมโครกรัม จึงมีเก็บสะสมไว้ที่ตับเป็นจำนวนมาก เพียงพอที่จะใช้ได้นาน
คนปกติมักไม่ขาดวิตามินนี้ แต่คนที่เป็นโรคบางอย่างจะทำให้ดูดซึมวิตามินนี้ไม่ได้ เมื่อขาดจะทำให้เกิดโลหิตจางที่รุนแรง อาจทำให้สมองและไขสันหลังพิการ
๗.ไบโอทิน ช่วยในการเจริญเติบโต แบคทีเรียในลำไส้ของเราสามารถสังเคราะห์วิตามินนี้ได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงไม่ค่อยพบการขาดวิตามินชนิดนี้
๘.กรดโฟลิก แบคทีเรียในลำไส้ก็สามารถสังเคราะห์ได้เพียงพอกับความต้องการ
๙.วิตามินซี วิตามินยอดนิยมโดยเฉพาะบรรดาวัยรุ่นเพราะมุ่งผลด้านผิวพรรณซึ่งวิตามินซีมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยเสริมภูมิต้านทาน ช่วยในการสร้างผิวหนัง กระดูก ฟัน และหลอดเลือด
ถ้าขาดจะเป็นโรคลักปิดลักเปิดหรือเลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม ฟันหลุดง่าย ปวดข้อ ข้อบวม แผลหายช้า ร่างกายติดเชื้อง่าย
วิตามินกลุ่มที่ละลายได้ใน “ไขมัน”
๑.วิตามินเอ พบมากในนม ตับ ไข่แดง ผักใบเขียวและใบเหลืองรวมทั้งผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือส้ม ช่วยในด้านการมองเห็นและการสร้างเนื้อเยื่อผิวหนัง
ถ้าขาดจะเป็นโรคตาบอดกลางคืน เยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบ ตาแห้ง ผิวแห้งแข็ง ถ้าได้รับมากเกินไปจะเป็นพิษทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดในกระดูก ผิวหนังหลุดลอกและผมร่วง
๒.วิตามินดี พบมากในตับ นม ไข่ เนื้อสัตว์ ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เพียงพอกับความต้องการใช้ถ้าผิวหนังได้รับแสงแดดที่พอเหมาะเป็นประจำ
ถ้าขาดจะเป็นโรคกระดูกอ่อน ชักและกล้ามเนื้อเกร็ง ถ้าได้รับมากเกินไปจะเป็นพิษ ทำให้วิงเวียน เบื่ออาหาร ปัสสาวะบ่อย ท้องเดิน ระดับแคลเซียมในเลือดสูงซึ่งอาจเกาะกับเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น หลอดเลือด หลอดลม ไต
๓.วิตามินอี พบมากในน้ำมันพืช เนยเทียม ถั่ว และผักใบเขียว
ถ้าขาดจะเกิดผลเสียต่อระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด เกิดโลหิตจาง กล้ามเนื้อลีบ ถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนล้า ตาพร่ามัว ท้องเดิน
๔.วิตามินเค พบมากใน ผัก ไข่แดง โยเกิร์ต ช่วยในการแข็งตัวของเลือดและบำรุงกระดูกและฟัน ปกติแล้วเชื้อแบคทีเรียในลำไส้สามารถสังเคราะห์ได้อย่างเพียงพอ
เหตุที่ต้องบรรยายยืดยาวในเชิงวิชาการเช่นนี้เพราะปัจจุบันพบว่าการตลาดของสินค้าสุขภาพและอาหารเสริมในบ้านเรามักจะโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กินวิตามินกันมากๆ เพราะมีประโยชน์ ร่างกายจะได้แข็งแรง มีการแข่งขันกันหลายยี่ห้อว่าของตัวเองมีวิตามินเกลือแร่อยู่หลายชนิด แค่อ่านฉลากข้างขวดก็มากมายจนมึนแล้ว
การให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวคือประโยชน์แต่ไม่ได้กล่าวเน้นถึงปริมาณความต้องการที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล รวมทั้งโทษของการได้รับสารเหล่านี้มากเกินไปอาจทำให้เกิดโทษตามมาได้
เราจึงมักจะเห็นคนปกติทั่วไปหลายๆ คนที่ร่างกายแข็งแรงดีแต่กินวิตามินชนิดเม็ดเป็นกำมือวันละหลายๆ มื้อ เหตุเพราะมีวิตามินหลายยี่ห้อให้เลือกกิน ทั้งบำรุงร่างกาย บำรุงผิวพรรณ บำรุงสมอง บำรุงสายตา ฯลฯ เรียกได้ว่าแค่วิตามินมากมายในแต่ละมื้อก็ทำให้อิ่มแทนข้าวได้เลย
นอกจากนี้ วิตามินที่ได้มาจากการสังเคราะห์ย่อมปลอดภัยน้อยกว่าวิตามินที่ได้รับจากอาหารตามธรรมชาติ (ที่ถูกสุขอนามัย) คนทั่วไปที่กินอาหารได้ตามปกติครบทั้ง ๕ หมู่ จะได้รับวิตามินต่างๆ เพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าอายุมากขึ้น กินอาหารได้น้อย หรือกินอาหารไม่ครบถ้วนเพียงพอ ก็สามารถเสริมวิตามินเพิ่มได้แต่ต้องเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคลจึงจะไม่เกิดโทษ เช่น คนปกติทั่วไปที่ส่วนใหญ่ได้อาหารครบอาจกินวิตามินแบบรวมสัปดาห์ละครั้ง หรือวันเว้นวันก็ได้ โดยให้เลือกที่จำเป็นและเหมาะสม
ถ้าเปรียบร่างกายเป็นรถยนต์ อาหารที่ต้องกินทุกวันก็เหมือนกับเชื้อเพลิงที่ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์โดยตรง ซึ่งต้องหมั่นเติมอยู่ตลอด
ส่วนวิตามินเปรียบเหมือนน้ำมันเครื่องช่วยหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ให้ทำงานดีขึ้น จึงไม่สิ้นเปลืองมาก นานๆ ก็เติมที
ดังนั้น ในคนปกติจึงไม่จำเป็นต้องกินวิตามินเสริมมากจนเกินไปเพราะอาจเกิดโทษได้
ขอบคุณข้อมูลจาก:https://www.doctor.or.th/article/detail/14210