สังเกตได้ยังไง…ว่ายาเสื่อมสภาพ
ยาบางชนิดแม้ว่าจะยังไม่ถึงวันหมดอายุ แต่หากยาเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมก็ไม่ควรใช้เด็ดขาด เพราะนอกจากจะไร้ประสิทธิภพในการรักษาโรคแล้วยังอาจทำร้ายร่างกายได้หากใช้ยานั้น โดยสาเหตุของการเปลี่ยนสภาพยา อาจมาจากการเก็บยาไม่เหมาะสม จนอาจทำให้ยานั้นประสิทธิภาพลดลง ยาแต่ละชนิดมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน บางชนิดต้องเก็บในตู้เย็นเพราะไม่ทนความร้อน ส่วนบางชนิดอาจไวต่อแสงแดดต้องในเก็บในถุงสีชา บางชนิดต้องเก็บในที่แห้งสนิทเพราะไม่ทนต่อความชื้น เมื่อได้รับยามาแล้ววิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันยาเสื่อมสภาพคือ ต้องเก็บรักษายาตามคำแนะนำทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมสภาพ เพื่อให้ยามีคุณภาพอยู่จนถึงวันหมดอายุที่กำหนด สามาถทานได้ครบกำหนดตามที่แพทย์แนะนำ
วิธีการสังเกต…ยาเสื่อมสภาพ
ยาเม็ด
มีจุดดำๆ เม็ดสีเปลี่ยนไปจากเดิม ยาเหนียวเชื่อมติดกัน
ยาแคปซูล
บวมเป่ง มีจุดดำๆ เป็นเชื้อรา ผงภายในเปลี่ยนสีหรือจับกันเป็นก้อน
ยาน้ำใส
ปกติไม่มีตะกอน แต่หากเก็บไว้นานแล้วเกิดตะกอน หมายความว่า อาจมีการตกผลึกของตัวยาที่ละลายน้ำเมื่อความเข้มข้นของยาไม่เหมาะสม เช่น พาราเซตามอลชนิดน้ำ ไม่ควรเก็บในตู้เย็นเพราะจะตกผลึก สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องได้ และยาจะมีอายุ 1 ปีหลังจากเปิดขวดครั้งแรก
ยาน้ำข้น
โดยปกติมักมีตะกอนที่เป็นตัวยาผสมอยู่แล้ว เวลาที่วางยาทิ้งไว้อาจเกิดการแยกชั้นได้ เมื่อเขย่าแล้วยากับตะกอนก็จะกลับมารวมตัวกันปกติ แต่ถ้าเขย่าแล้วไม่รวมตัวกัน ตะกอนไม่ขยับ แสดงว่า ยาเสื่อมสภาพแล้ว ไม่ควรนำมาใช้ แม้ยาจะไม่ถึงวันหมดอายุก็ตาม
ยาผง
หากยาผงจับตัวกันเป็นก้อน และไม่ละลายน้ำ แสดงว่าเสื่อมสภาพแล้ว
ยาครีม
เนื้อครีมแยกชั้น ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน มีน้ำใสๆ เนื้อยาเปลี่ยนสี หรือมีกลิ่นฉุน กลิ่นผิดปกติไปจากเดิม
ยาหยอดตา
หลังจากเปิดใช้แล้วจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือน เนื่องจากเมื่อเปิดแล้วมีโอกาสเชื้อโรคจะปะปนไปในขวดยา
ยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งสำหรับเด็ก
ถ้ายังไม่ผสมน้ำจะมีอายุตามที่ระบุ แต่ถ้าผสมน้ำแล้ว ควรกินให้หมดภายใน 7 วัน โดยต้องเก็บไว้ในตู้เย็น และเขย่าขวดก่อนใช้และใช้ยาให้ครบจำนวนตามแพทย์สั่ง
ยาน้ำบางชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
เมื่อเปิดทิ้งไว้นาน แอลกอฮอล์จะระเหยจนตัวยาสำคัญตกตะกอน ถ้ากินยาไม่หมดก็ต้องทิ้ง และถ้าหากยังมีอาการอยู่ก็ควรพบแพทย์เพื่อรับยาขวดใหม่