สาเหตุและวิธีรักษาโรคท้องอืดด้วยตัวเอง
ท้องอืดคืออะไร สาเหตุและวิธีรักษาโรคท้องอืดด้วยตัวเอง
ท้องอืดถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป อาจด้วยสาเหตุที่มาจากการกินอาหารในแต่ละวัน หรืออาจเป็นเพราะระบบย่อยอาหารของแต่ละคนทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้สุขภาพร่างกายย่ำแย่ การรู้ถึงสาเหตุ อาการ วิธีแก้ไข และป้องกันจึงมีความสำคัญ เพราะมันจะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับอาการดังกล่าวได้ทันท่วงทีกันค่ะ
ท้องอืด คืออะไร?
ท้องอืด คือ โรคชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับอาการที่ผิดปกติของท้องหรือลำไส้ อาจด้วยสาเหตุที่มาจากการทานอาหารหรือระบบย่อยอาหาร ซึ่งโรคชนิดนี้จะมีการแสดงอาการในบริเวณตรงกลางของท้องในส่วนบน ซึ่งอยู่ระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือนั่นเอง
สาเหตุของโรคท้องอืด
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคท้องอืดมาจากพฤติกรรมการทานอาหารในแต่ละวัน และมาจากการที่ระบบย่อยอาหารของคนเราทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดปริมาณแก๊สและกรดส่วนเกินในกระเพาะอาหาร รวมทั้งมาจากการใช้ยาบางชนิด การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารคาเฟอีนอย่างชาและกาแฟ และจากการสูบบุหรี่เป็นต้น
อาการของโรคท้องอืด
ในส่วนของอาการของโรคท้องอืดนั้นจะมีอาการแน่นท้อง จุกเสียด มีการบีบรัดของลำไส้ และมีอาการท้องหลามตึงๆ อืดๆ คล้ายมีลมหรือก๊าซในกระเพาะอาหาร ในบางช่วงที่มีอาการเรอออกมาจะส่งกลิ่นเหม็นเปรี้ยว และบางช่วงจะมีอาการแสบร้อนในบริเวณหน้าอกเหนือลิ้นปี่ และในบางรายอาจมีอาการที่รุนแรง เช่น อิ่มเร็ว คลื่นไส้ และอาเจียน แต่ที่น่าเป็นกังวลก็คือในบางรายจะมีหลายอาการร่วมอยู่นั่นเอง
วิธีรักษาโรคท้องอืดด้วยตัวเอง
ในส่วนของวิธีรักษาโรคท้องอืดนั้นมีหลากหลายวิธีด้วยกัน แต่ละวิธีล้วนมีความสำคัญและจำเป็นต้องใส่ใจในเรื่องพฤติกรรมการทานอาหารอย่างมาก ซึ่งวิธีการแก้ไขที่ให้ผลที่ดีจริงนั้นมีดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการทานผักดิบ
อย่างที่ทราบกันดีว่าผักจะมีส่วนประกอบของเส้นใยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากคุณทานผักเข้าไปในปริมาณมากก็จะทำให้ร่างกายเกิดอาการท้องอืดได้ เพราะร่างกายของคนเรานั้นไม่มีน้ำย่อยเส้นใยดังกล่าว แต่มันจะอาศัยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ที่คอยเป็นตัวย่อยเส้นใยชนิดนี้ ดังนั้นหากคุณมีอาการท้องอืดแต่ต้องการที่จะทานผัก แนะนำให้ทานผักที่ผ่านการลวกหรือต้มจะดีกว่าอย่างแน่นอน เพราะผักที่ผ่านการทำให้สุก จะช่วยแก้ไขอาการท้องอืดได้
2. เคลื่อนไหวร่างกายเมื่อมีอาการจุกเสียด
เมื่อใดที่รู้สึกจุกเสียดในท้อง แนะนำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว อาจเลือกวิธีการเดินภายในบ้าน หรือลุกขึ้นไปทำอย่างอื่นให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว แต่ไม่แนะนำให้นั่งแต่ที่เดิม เพราะนอกจากจะไม่ทำให้อาการดีขึ้นแล้ว ยังทำให้อาการจุกเสียดยิ่งรุนแรงขึ้นอีกด้วย
3. ทานมื้อเล็กพร้อมเคี้ยวให้ละเอียด
การทานมื้อเล็กและหมั่นเคี้ยวอาหารให้ละเอียดจะช่วยแก้ไขอาการท้องอืดได้ ในขณะที่การทานอาหารมื้อใหญ่จะทำให้เกิดการดื่มน้ำคราวละมากๆ ดังนั้นจึงทำให้อาหารเกิดการโป่งออกมา และทำให้หูรูดในบริเวณหลอดอาหารที่อยู่ส่วนล่างเกิดการหย่อนลง และนั่นจะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้นเช่นกัน
4. ดื่มน้ำอุ่น
หากคุณมีอาการท้องอืด แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกทานยาชนิดใด หรือบางครั้งอาจมีความจำเป็นไม่สามารถหายามาทานได้ แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นในปริมาณที่พอประมาณ เพราะน้ำอุ่นจะช่วยให้กรดและน้ำย่อยไหลลงกระเพาะอาหารได้เร็วขึ้น จึงทำให้อาการดังกล่าวค่อยๆ หายดีขึ้น
5. ลดของหวาน อาหารมัน และเนื้อสัตว์
ไม่ว่าจะเป็นของหวาน อาหารมัน หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ ล้วนเป็นอาหารที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นจึงควรใส่ใจในเรื่องการเลือกทานอาหารในแต่ละวันให้ดี โดยเริ่มจากการจดบันทึกรายการอาหาร เพื่อที่จะช่วยให้คุณสามารถหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าวได้ เนื่องจากกระเพาะอาหารของคนเรานั้นต้องใช้เวลามากถึง 5-8 ชั่วโมงในการย่อยอาหารประเภทดังกล่าว และนั่นจึงทำให้เกิดการหมักหมม จนกลายเป็นแก๊สในท้องได้
6. ดื่มชาสมุนไพร
การดื่มชาสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นชาขิง ชาเทียนข้าวเปลือก หรือชาเปปเปอร์มิ้นท์ จะช่วยลดอาการท้องอืดได้เป็นอย่างดี เนื่องจากชาสมุนไพรนั้นจัดเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยให้อาการท้องอืดหายได้เร็วขึ้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมทุกครั้งที่ทานอาหารมื้อเที่ยงหรือมื้อเย็น แล้วตามด้วยดื่มชาสมุนไพร จะช่วยให้คุณปลอดภัยจากอาการท้องอืดได้
7. เคี้ยวเมล็ดเทียนข้าวเปลือก
เมื่อมีอาการท้องอืด การนำเมล็ดเทียนข้าวเปลือกมาเคี้ยวจะช่วยลดอาการดังกล่าวได้ เนื่องจากเมล็ดเทียนข้าวเปลือกนั้นมีสรรพคุณช่วยในการกระตุ้นการย่อยอาหารได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ทั้งนี้มันยังมีฤทธิ์ในการขับลมภายในกระเพาะอาหาร และยังช่วยทำให้ลมหายใจของคนเราหอมสดชื่นอีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีอาการท้องอืดหลังจากทานอาหารแต่ละมื้อ แนะนำให้เคี้ยวเมล็ดเทียนข้าวเปลือกเข้าไป จะช่วยแก้ไขอาการท้องอืดได้อย่างแน่นอน
8. หลีกเลี่ยงการทานผลไม้พร้อมกับเนื้อสัตว์
เนื่องจากการที่คนเราทานผลไม้เข้าไป ระบบย่อยอาหารจะใช้เวลาในการย่อยผลไม้ประมาณ 30 นาที ในขณะที่การทานเนื้อสัตว์ต้องใช้เวลาในการย่อยมากถึง 5 ชั่วโมง ดังนั้นเมื่อทานเนื้อสัตว์และผลไม้ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน จะทำให้เนื้อสัตว์ไปขัดขวางการย่อยผลไม้ทันที และนั่นจะทำให้น้ำตาลและเอนไซม์ที่อยู่ในผลไม้สร้างความปั่นป่วนภายในท้อง จนทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ หากต้องการทานทั้งเนื้อสัตว์และผลไม้ แนะนำให้ทานห่างกันประมาณ 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ จะทำให้ร่างกายปลอดภัยจากอาการท้องอืดได้
9. เคี้ยวโป๊ยกั๊ก
การเคี้ยวโป๊ยกั๊กจะช่วยแก้ไขอาการท้องอืดได้อย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะโป๊ยกั๊กจัดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการขับลมภายในกระเพาะอาหาร ช่วยกระตุ้นระบบการย่อยอาหารให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้เช่นกัน สำหรับใครที่ใจกล้ามากพอ หรือชื่นชอบการทานสมุนไพรแต่เดิมแล้ว แนะนำให้เคี้ยวโป๊ยกั๊กสดๆ หลังจากทานอาหารแต่ละมือที่จัดเต็ม หรือหากไม่ชอบกลิ่นของสมุนไพรเอามากๆ ก็แนะนำให้ใส่ลงไปในอาหารสักหนึ่งเมนู เพื่อให้กลิ่นของโป๊ยกั๊กจางลงจากเดิม
10. ลดปริมาณน้ำตาลในอาหาร
ทราบกันหรือไม่ว่าน้ำตาลทุกชนิดนั้นมีส่วนทำให้ท้องของคนเราเกิดอาการปั่นป่วนได้เสมอ อีกทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นแก๊สในกระเพาะอาหารได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อลดอาการท้องอืดที่จะเกิดขึ้น จึงควรลดปริมาณน้ำตาลทั้งจากการปรุงอาหาร หรือจากการสั่งเครื่องดื่มที่ร้านให้ลดปริมาณน้ำตาลลงมาจากเดิม รับรองว่าอาการท้องอืดจะไม่มีทางมากวนใจได้บ่อยๆ
วิธีการป้องกันโรคท้องอืด
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคท้องอืดนั้นมีหลากหลายวิธีให้เลือกปฏิบัติด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครมีความสามารถที่จะป้องกันด้วยวิธีใด ในส่วนของการป้องกันโรคท้องอืดที่ให้ผลดีแก่ร่างกายมีดังนี้
1. ห้ามเอนตัวนอนทันทีหลังจากทานอาหาร
พฤติกรรมนี้ อาจเป็นพฤติกรรมยอดฮิตที่คนเรามักทำกันจนติดเป็นนิสัย โดยเฉพาะหลังจากกลับจากทำงานเหนื่อยๆ มานั่งทานอาหาร เสร็จจากทานอาหารอาหารก็รีบเอนตัวนอนทันที และนั่นจึงทำให้เกิดอาการท้องอืดตามมาแบบติดๆ เพราะการที่คนเราเอนตัวนอนทันทีนั้น จะทำให้กรดไหลย้อนขึ้นได้ง่าย
2. ทานอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
การทานอาหารมื้อสุดท้ายของวัน ควรอยู่ในช่วงก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อลดการเกิดอาการกรดไหลย้อนนั่นเอง แต่หากมันยังแสดงอาการท้องอืด ก็ควรเขยิบเวลาอาหารมื้อสุดท้ายให้เร็วขึ้นคราวละ 1-2 ชั่วโมง เช่น จากเดิมทานในช่วง 6 โมงเย็น ก็เปลี่ยนมาเป็น 5 โมงเย็น
3. ลดอาหารประเภทที่มีมัน
ควรลดปริมาณการทานอาหารจำพวกของมัน เช่น อาหารประเภททอด อาหารที่มีส่วนผสมของครีม เนย หรือแม้แต่เนื้อสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้น หรือไส้กรอก เป็นต้น ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องอืดได้ง่าย
4. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง
หลายคนอาจมีพฤติกรรมชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือบางคนถึงขั้นขาดหมากฝรั่งไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องอืด จึงควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งจะเป็นการดีที่สุด เพราะหมากฝรั่งจะมีส่วนผสมของน้ำตาลเทียม เช่น ไซทินอล และน้ำตาลชนิดดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ง่าย เพราะมันมีส่วนทำให้แบคทีเรียในลำไส้ย่อยสลาย จนเกิดเป็นแก๊สในลำไส้และทำให้เกิดท้องอืดตามมานั่นเอง
5. หมั่นเดินเล่นหลังจากทานอาหาร
การเดินเล่นประมาณ 5-10 นาทีหลังจากทานอาหารแต่ละมื้อ จะช่วยป้องกันการเกิดอาการท้องอืดได้ เพราะวิธีนี้จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารสามารถทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
6. รักษามาตรฐานของน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
การรักษาน้ำหนักของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์นั้น จะส่งผลดีทั้งในเรื่องของสุขภาพร่างกาย และรวมไปถึงเรื่องของการป้องกันโรคต่างๆ ได้ เพราะการปล่อยให้ร่างกายมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ถึงขั้นอยู่ในภาวะของการเป็นโรคอ้วน จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคท้องอืดได้ง่าย ที่สำคัญโรคท้องอืดจะยิ่งกำเริบในผู้ที่มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป
7. บอกลาเสื้อผ้าที่คับ
การสวมใส่เสื้อผ้าที่คับหรือฟิต จะส่งผลทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ง่าย โดยเฉพาะการสวมใส่กางเกงหรือกระโปรงที่รัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป จะเป็นการเพิ่มความดันภายในช่องท้อง และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นได้ง่ายนั่นเอง
8. งดเครื่องดื่มบางชนิดและบุหรี่
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดมาจากการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มบางชนิด เช่น น้ำอัดลม กาแฟ ชา และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้ รวมทั้งบุหรี่จะมีส่วนทำให้เกิดแก๊สในปริมาณที่มากขึ้นภายในกระเพาะอาหาร จึงทำให้เป็นโรคท้องอืดได้
9. ควบคุมการทานมื้อใหญ่ในปริมาณที่เหมาะสม
เพราะการทานมื้อใหญ่ในปริมาณที่มากจนเกินไป จะทำให้เกิดการหลั่งกรดที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการรู้จักควบคุมการทานมื้อใหญ่ในปริมาณที่เหมาะสม และหันมาทานมื้อเล็กบ่อยๆ พร้อมทั้งเคี้ยวให้ละเอียด จะช่วยป้องกันอาการท้องอืดได้เป็นอย่างดี
การเลือกซื้อยาแก้ท้องอืดด้วยตัวเอง
เนื่องจากอาการท้องอืดเป็นอาการที่พบได้บ่อย ด้วยความผิดปกติของลำไส้ ซึ่งจะอยู่ในส่วนกลางของท้องด้านบน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เกิดอาการดังกล่าว มักจะเลือกแก้ไขด้วยการกินยาขับลม ซื้อหาตามร้านขายยา เพราะคิดว่าเป็นอาการธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้มีอันตราย เมื่อกินยาเข้าไปแล้ว อาการก็ค่อยๆ ดีขึ้น และกลับมาหายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การเลือกกินยาขับลมด้วยตัวเอง จะต้องระมัดระวังยาบางชนิดที่อาจส่งผลข้างเคียง หรือบางรายที่มีอาการท้องอืดร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น อาเจียน คลื่นไส้ อิ่มเร็วมากกว่าปกติ จุกเสียดบริเวณเหนือลิ้นปี่ ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ดีกว่าการซื้อยากินเอง
ยาบรรเทาแก้อาการท้องอืด
โดยทั่วไปคือยาสามัญประจำบ้านที่ทุกบ้านล้วนมีพกติดไว้นั่นก็คือ ยาขับลมจำพวก ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุน้ำขาว และยาลดกรดในกระเพาะ เป็นต้น ซึ่งหากอาการที่เกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ ทุกวัน จนต้องกินยาอยู่ตลอดเวลา จะส่งผลทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ จึงควรรักษาที่สาเหตุ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายชนิดอื่นที่ร่างกายกำลังบอกเราก็เป็นได้
เราจะแบ่งยาแก้ท้องอืดแตกต่างกันออกไป ด้วยลักษณะการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันคือ
- ยาขับลม เป็นยาสำหรับทำหน้าที่ขับลมในกระเพาะและลำไส้ ได้แก่ peppermint oil และ simethicone
- ยาช่วยย่อย เป็นยาที่มีส่วนประกอบของเอนไซม์ช่วยย่อย ได้แก่ amylase, ethypapaverine, cellulase และ mamylase เป็นต้น
- ยาลดกรด ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ได้แก่ aluminum hydroxide, sodium bicarbonate และ magnesium hydroxide
- ยาลดอาการปวดเกร็งในท้อง ได้แก่ chlordiazepoxide, oxybutynin และ hyoscine-N-butylbromide เป็นต้น
โรคท้องอืดถือเป็นโรคที่สามารถแก้ไขและป้องกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ในเรื่องการทานอาหารและการปฏิบัติตัวในแต่ละวัน รวมทั้งการรู้จักควบคุมและงดพฤติกรรมต้องห้าม ที่ส่งผลทำให้เกิดอาการท้องอืดด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าการไร้ซึ่งอาการท้องอืดจะช่วยให้สุขภาพร่างกายสามารถดำเนินไปได้อย่างสะดวก ในขณะที่ร่างกายที่เผชิญกับอาการดังกล่าวไม่สามารถทำอะไรได้อย่างสะดวกสบายได้เลยค่ะ