fbpx skip to Main Content

อาหารกับการชะลอวัย

อาหารกับการชะลอวัย

อาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างแยกกันไม่ได้ เราต้องกินอาหารทุกวัน อาหารที่มีประโยชน์นอกจากจะให้พลังงานกับร่างกายและไม่ทำให้เกิดโทษแล้ว ควรให้ประโยชน์ในการชะลอวัยได้ด้วย เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ความเสื่อมนี้เองที่นำมาซึ่งโรคเรื้อรัง แต่เราสามารถชะลอความเสื่อมนี้ได้ด้วยอาหาร ก่อนที่จะรู้ว่าอาหารชนิดใดสามารถชะลอความเสื่อมได้ ต้องรู้จักกลไกของความเสื่อมและตัวเร่งความเสื่อมก่อน

อนุมูลอิสระ (free radiman-holiday-people-facecal) เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม มลภาวะ อาหาร รวมถึงแสงแดด อนุมูลอิสระเป็นตัวเร่งความเสื่อมที่สำคัญในร่างกาย เพราะอนุมูลอิสระเป็นโมเลกุลที่ไม่เสถียรแต่มีพลังงานมากทำให้ต้องแย่งอิเลคตรอนจากโมเลกุลข้างเคียง เมื่อถูกแย่งอิเลคตรอนไป โมเลกุลนั้นๆ ก็จะกลายเป็นอนุมูลอิสระ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อกันเป็นลูกโซ่ ปฏิกิริยานี้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ และสามารถขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เซลล์ หมดสมรรถภาพ ในการซ่อมแซมตัวเอง (Repair) ผลสุดท้ายเซลล์จึงเปลี่ยนสภาพหรือตายไปในที่สุด อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นเพียงโมเลกุลเดียวสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระนับร้อยนับพันได้ในร่างกาย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอนุมูลอิสระเหล่านี้เห็นสาเหตุของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และเบาหวาน เป็นต้น ที่สำคัญคือ อนุมูลอิสระเหล่านี้เร่งกระบวนการแก่ (Aging process) ของเซลล์ อย่างไรก็ตามร่างกายมีวิธีการป้องกันตนเองอยู่แล้ว หากแต่ในปัจจุบันด้วยสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะสูง อาหารที่มีสารปนเปื้อนจำนวนมาก เราจึงต้องการอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อเป็นกำลังเสริมในการป้องกันตนเองจากความเสื่อมที่เกิดจากอนุมูลอิสระเหล่านี้ เราเรียกสารที่ช่วยทำลายอนุมูลอิสระว่า “สารต้านอนุมูลอิสระ”

สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ที่มีอยู่ในอาหาร

วิตามินเอ เบตาแคโรทีนหรือแคโรทีนอยด์ ที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ (provitamin A) ช่วยในการสร้างและการเจริญของเซลล์และเนื้อเยื่อของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ ป้องกันการติดเชื้อ รักษาสภาวะเยื่อบุผิวหนัง ชะลอความเสื่อมของผิวหนัง เบตาแคโรทีนตามธรรมชาติพบได้ใน ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองส้มหรือสีเขียว เช่น ฟักทอง แครอต และผักใบเขียวต่างๆ ส่วนวิตามินเอพบมากในนมสด ผลิตภัณฑ์จากนม ตับ น้ำมันตับปลา และไข่ เป็นต้น

วิตามินซี มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีมาก ปกป้องเซลล์และเนื้อเยื่อจากการถูกทำลายได้ วิตามินซีช่วยในการสังเคราะห์โปรตีนคอลลาเจนในผิว กระตุ้นการสร้างโปรคอลลาเจน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเส้นใยคอลลาเจน ผิวหนังที่มีคอลลาเจนมากจะมีลักษณะกระชับแข็งแรง ไม่หย่อนคล้อยง่าย ไม่เกิดริ้วรอย อาหารที่มีวิตามินซีได้แก่ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทุกชนิด ผลไม้ตระกูลส้ม และตระกูลเบอร์รี่ หรือหากต้องการใช้วิตามินซีในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรเลือกชนิดที่ขวดบรรจุมีสีชาเพื่อป้องกันแสง และไม่ควรเก็บไว้นานหลังจากที่เปิดใช้แล้ว เพราะวิตามินซีสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกแสงแดด ความชื้นและออกซิเจน

วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในการป้องกันเนื้อเยื่อจากการถูกทำลาย ป้องกันอนุมูลอิสระทำลายไขมันและคอลลาเจนในเซลล์ผิวหนัง จึงช่วยชะลอความหย่อนยานของผิว ชะลอวัยได้ พบได้ในผัก เมล็ดพืช น้ำมันพืช ข้าวโพด ถั่ว แป้งสาลี เนยเทียม เนื้อสัตว์ และนม

สารพฤกษเคมี (Phytonutrients) เป็นสารที่มีอยู่ในผักและผลไม้และเป็นสารสำคัญที่ทำให้ผักและผลไม้มีสีต่างๆ กัน มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระได้ดี ป้องกันโรคมะเร็งบางชนิดได้ การวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ไฟโตนิวเทรีนส์ สามารถชะลอความแก่ก่อนวัยได้ ต้านอนุมูลอิสระได้ดี แต่ต้องได้รับทุกสีเพราะสารสีต่างๆ เหล่านี้ต้องทำงานร่วมกัน นอกจากนั้นไฟโตนิวเทรีนส์ยังให้ผลในการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ มีประสิทธิภาพในการลดระดับคลอเลสเตอรอลด้วย

สารสกัดจากถั่วเหลือง (Genistein) มีคุณสมบัติและการทำงานคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญของเพศหญิง ที่ลดลงตามอายุ หญิงที่มีฮอร์โมนนี้ลดลงมีผลให้ผิวแห้งเป็นขุย และเกิดริ้วรอยได้ง่าย กระดูกไม่แข็งแรง การได้รับเจนิสตินจึงเสมือนกับการได้รับฮอร์โมนทดแทนตามธรรมชาติ ทำให้ผิวกลับสดใส เปล่งปลั่ง

ซีลีเนียม (Selenium) เกลือแร่ที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เสริมการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมน กระตุ้นภูมิต้านทาน และช่วยในกระบวนการสืบพันธุ์ ซีลีเนียมช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ โดยทำงานเสริมฤทธิ์ของวิตามินอี ช่วยป้องกันการทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ได้ ซีลีเนียมตามธรรมชาติพบได้ใน อาหารทะเล ตับ ไต เนื้อสัตว์ และเมล็ดพืช

สังกะสี (Zinc) เป็นแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์กว่า 70 ชนิดในร่างกายรวมทั้งเอนไซม์ที่มีหน้าที่ต่อต้านปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระด้วย สังกะสีมีความจำเป็นในปฏิกิริยาการดูดซึมกรดไลโนเลอิคซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นต่อการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ช่วยในการคงสภาพของคอลลาเจนและอีลาสติน ช่วยให้ผิวเต่งตึง ป้องกันริ้วรอย ลดความหย่อนยานของผิวและช่วยในกระบวนการรักษาแผลของผิวได้อีกด้วย การขาดธาตุนี้จึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนังได้

โคเอนไซม์ Q10 (Coenzyme Q 10) มีอยู่ในเซลล์อยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยทำหน้าที่สร้างพลังงานในเซลล์ของร่างกาย และต่อต้านอนุมูลอิสระ เมื่ออายุมากขึ้น Co Q10 จะลดปริมาณลง ส่งผลให้เซลล์ของร่างกายที่เคยแข็งแรง อ่อนแอลง โคเอนไซม์ Q10 ออกฤทธิ์ในการเปลี่ยนวิตามินอีให้กลายเป็นโมเลกุลที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ University of California (Los Angeles) รายงานผลการวิจัยว่า การทดลองเปรียบเทียบใช้โคเอนไซม์ Q10 ในหนู พบว่า หนูที่ได้รับโคเอนไซม์ Q10 จะดูอ่อนวัยนาน และดูแอกทีฟกว่าหนูที่ไม่ได้ใช้โคเอนไซม์ Q10 นอกจากนั้นพบว่าหนูที่ได้รับโคเอนไซม์ Q10 จะมีอายุยืนมากกว่าหนูที่ไม่ได้ใช้ถึง 2 เดือน ข้อแนะนำในการใช้โคเอนไซม์ Q10 ให้ได้ผลดีที่สุด คือ ต้องรับประทานร่วมกับอาหารที่มีไขมัน เพื่อให้โคเอนไซม์ Q10 ดูดซึมเข้าร่างกายดีขึ้น เนื่องจากโคเอนไซม์ Q10 ละลายได้ดีในไขมัน โคเอนไซม์ Q10 พบมากใน หัวใจ ตับ ไต เนื้อสัตว์ รำข้าว ผลิตภัณฑ์จากถั่ว ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล และปลาแซลมอน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการเติมโคเอนไซม์ Q10

หากต้องการประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระ และชะลอวัยนั้น ต้องเข้าใจเลือกจับกลุ่มอาหารที่ประกอบด้วยสารอาหารที่ ช่วยในการดูดซึมของกันและกัน ทำงานร่วมกันหรือเสริมฤทธิ์กันเป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น อาหารที่มีไขมันจะทำให้โคเอนไซม์ Q10 ดูดซึมได้ดีขึ้น วิตามินซีช่วยในการสร้างคอลลาเจน หรือสารพฤกษเคมีที่ต้องทำงานร่วมกับวิตามินซีและวิตามินอี ซึ่งไม่ทนความร้อน หากถูกความร้อนก็จะสลายไปบางส่วนเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก:http://www.nd.ahs.chula.ac.th/research/

Back To Top