เครียดลงกระเพาะ โรคฮิตของคนทำงาน
เครียดลงกระเพาะ โรคฮิตของคนทำงาน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนในยุคนี้ ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร (โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิตซึ่งมักจะทำงานแข่งกับเวลา และทานอาหารไม่เป็นเวลา) กันมากขึ้น เกิดจากความเครียดที่สะสมในแต่ละวันนั่นเอง
รู้หรือไม่ว่า เวลาเราเครียด ฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป หัวใจจะเต้นแรง เร็ว แต่ไม่เป็นจังหวะ เส้นเลือดบีบตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่วนกระเพาะอาหารของเราก็จะหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น ลำไส้บีบตัวอย่างรุนแรง ฯลฯ
สังเกตความเครียด ก่อโรค
ความเครียดยังทำให้หัวใจเต้นแรงผิดปกติ หายใจถี่ขึ้น กล้ามเนื้อมีอาการเกร็ง ปากแห้ง และยิ่งไปกว่านั้น ความเครียดยังทำให้การทำงานของกระเพาะอาหาร และลำไส้หยุดชะงักลง เพื่อถนอมพลังงานสงผลให้ กรดในกระเพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดอาหารปั่นป่วนในช่องท้อง และรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน
หากรู้สึกเบื่ออาหาร กินไม่ได้ มีอาการมึนงง หงุดหงิด รำคาญใจอยู่บ่อยๆ อยากอยู่คนเดียว นอนไม่หลับ ท้องผูก ให้รู้ไว้เลยว่า คุณกำลังมีอาการเครียด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า มีโอกาสป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารในเร็ววัน
อาการของโรคเครียดลงกระเพาะ
ของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไปดังนี้
– ปวดท้อง หรือมวนท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวจะบรรเทา หรือหายไปเมื่อถ่ายอุจจาระ
– ถ่ายอุจจาระมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์
– ต้องเบ่งถ่าย หรือกลั้นไม่อยู่ หรือรู้สึกว่าถ่ายไม่สุด
– ปวดบริเวณลิ้นปี่
– มีอาการท้องอืด หรือรู้สึกว่ามีลมในกระเพาะมาก
– คลื่นไส้อาเจียนหลังอาหาร
อาการแบบไหนใช่โรคกระเพาะ
- รู้สึกปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ มักปวดเวลาท้องว่าง และอาการปวดเหล่านี้จะลดลงหรือหายไป เมื่อเรารับประทานอาหาร
- มีอาการปวดหลัง หลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง จะมีอาการปวดหลังช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเวลาที่กระเพาะอาหารของเราเริ่มย่อยอาหาร
- รู้สึกแน่นท้อง ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว อาจเกิดจากการรีบกินอาหาร การกลืนอาหารเร็วเกินไป รวมไปถึงการดื่มน้ำมากขณะกินอาหาร ซึ่งส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารในกระเพาะแปรปรวน
- รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เสียดหน้าอก มักจะเกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไปไม่ย่อย
หลากวิธี หนีโรคกระเพาะอาหาร
- กินอาหารให้ตรงเวลา และให้ครบ 3 มื้อ เป็นข้อปฏิบัติอย่างแรกที่ควรทำ เพราะจะช่วยให้กระเพาะอาหารเคยชินกับการย่อย และปล่อยน้ำย่อยออกมาในปริมาณที่พอดีทุกวัน
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้ว ในระยะแรกให้ฝึกการกินอาหารให้ตรงเวลา อาจรู้สึกปวดท้องมาก ควรเริ่มจากการกินอาหารย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ทีละน้อยๆก่อน ทั้งนี้ควรงดอาหารที่มีรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด ของดอง และอาหารทอดทุกประเภท
- เลิกสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด รวมทั้ง ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ และอาจทำให้โรคกระเพาะอาหารที่เป็นอยู่กำเริบหนักขึ้น
- หยุดยาแอสไพริน ยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ เพราะยาจำพวกนี้จะมีฤทธิ์ไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารเกิดการอักเสบมากขึ้น ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาข้ออักเสบ ควรสอบถามเพื่อความมั่นใจจากแพทย์ก่อน
• หากิจกรรมคลายเครียด สามารถทำได้หลายวิธี เป็นต้นว่า การออกกำลังกาย เช่น วิ่งเหยาะๆ เดินเร็ว ขี่จักรยาน รำมวย รำกระบอง เต้นแอโรบิก หรือทำสมาธิ อ่านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ หากปฏิบัติเป็นประจำจะช่วยลดความเครียด และในระยะยาวยังสามารถรักษาโรคกระเพาะ