เครื่องปรุงโซเดียมต่ำ ดีกับทุกคนจริงหรือ?
อาหารประเภทโซเดียม หรือเกลือ และอาหาร/เครื่องปรุงที่มีรสเค็ม เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง หรือลดการบริโภค เพื่อรักษาสุขภาพไตของเราให้ดี เมื่อมีผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงโซเดียมต่ำออกมาวางขายตามท้องตลาด หลายคนเลยคิดว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับทุกๆ คนที่อยากมีสุขภาพดี โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคไตที่ต้องควบคุมปริมาณโซเดียม
เครื่องปรุงโซเดียมต่ำ ดีอย่างไร?
เครื่องปรุงโซเดียมต่ำ ผลิตออกมาเพื่อเอาใจคนรักสุขภาพโดยเฉพาะ ที่สามารถเลือกปรุงอาหารด้วยน้ำปลา ให้ได้รสได้กลิ่นใกล้เคียงน้ำปลาเหมือนเดิม แต่ที่ไม่เพิ่มเติมตามไปด้วยเหมือนเดิม คือปริมาณโซเดียม ที่เป็นสาเหตุของโรคหลายๆ อย่าง รวมไปถึงโรคไต และความดัโลหิตสูง
เครื่องปรุงโซเดียมต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตจริงหรือ?
แม้ว่าเครื่องปรุงโซเดียมต่ำจะดีต่อสุขภาพของคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตแล้ว ยังควรเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะแม้ว่าจะมีโซเดียมต่ำ แต่ดันถูกแทนที่ด้วยโพแทสเซียมคลอไรด์ ที่เป็นเกลือที่ให้รสเค็มเหมือนกัน ซึ่งเกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ก็ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต เพราะไม่ว่าอย่างไรไตยังคงต้องทำงานหนักเพื่อกำจัดโพแทสเซียมคลอไรด์ออกไปจากร่างกายอีกอยู่ดี
แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตบางรายที่ทำการผลิตน้ำปลาโซเดียมต่ำ ด้วยการดึงเอาโซเดียมออกมาจากน้ำปลาโดยวิธีแยกสารผ่านเยื่อด้วยไฟฟ้า ไม่ได้มีการทดแทนความเค็มด้วยเกลือโพแทสเซียม ดังนั้นหากอยากลองน้ำปลาโซเดียมต่ำ อาจจะต้องสังเกตข้างขวดว่าผ่านกรรมวิธีลดโซเดียมอย่างไร หรือมีส่วนผสมของโพแทสเซียมสูงหรือไม่
เครื่องปรุงโซเดียมต่ำ เหมาะกับใคร?
แน่นอนว่านอกจากคนสุขภาพปกติที่อยากจำกัดปริมาณการทานโซเดียมในมื้ออาหารแต่ละมื้อแล้ว คนที่สามารถทานเครื่องปรุงชนิดนี้ได้ คือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพราะความดันสูงมีโซเดียมเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโพแทสเซียมแต่อย่างใด
แต่บางกรณีที่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่มีสาเหตุมาจากความบกพร่องในการทำงานของไต ที่ไตไม่สามารถขับโซเดียมที่เกินความจำเป็นออกจากร่างกายได้ จนโซเดียมสะสมร่างกายมากเกินไปจนเป็นสาเหตุของอาการความดันโลหิตสูง อันนี้ต้องปรึกษาแพทย์เช่นกัน เพราะปริมาณโพแทสเซียมในเครื่องปรุงโซเดียมต่ำอาจทำให้ไตทำงานหนักมากกว่าเดิม
โพแทสเซียมในร่างกายสูง อันตรายอย่างไร?
ในกรณีที่ไตทำงานบกพร่อง ไม่สามารถขับโพแทสเซียมที่เกินความจำเป็นออกจากร่างกายได้ อาจทำให้เกิดการคั่งของโพแทสเซียมในร่างกาย มีอาการชาบริเวณขาแขน ในกรณีที่มีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ อาจมีอาการซึมเศร้า จิตใจสับสน ตัวซีด ตัวเย็น ความดันเลือดลดลงอย่างมาก เป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนหัวใจหยุดเต้น จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
โซเดียม ไม่ได้มีแค่ในเครื่องปรุง
อาหารประเภทอื่นๆ ก็มีจำนวนโซเดียมอยู่เหมือนกัน เช่น ไข่ไก่ หรือนมสด ที่เรารณรงค์กันให้ลดการปรุงอาหารรสชาติเข้มข้นแซ่บจิ๊ด เพราะในอาหารปกติเองก็มีโซเดียมตามธรรมชาติอยู่จำนวนหนึ่งนั่น การปรุงอาหารรสจัดจึงยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณโซเดียมในอาหารแต่ละมื้อมากขึ้น
อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรระวัง
อาหารที่มีปริมาณโซเดียม และโพแทสเซียมสูงทั้งหมด ทั้งน้ำปลา เกลือแกง เครื่องปรุงรส ซอสปรุงรสต่างๆ ซอสสุกี้ กะปิ อาหารหมักดอง ไข่เค็ม ปลาเค็ม ขนมถุงที่ใส่เกลือ และเครื่องปรุงรสมากๆ อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ ผักใบเขียว กล้วย ส้ม มะละกอ ขนุน มะเขือเทศ แคนตาลูป ทุเรียน มะขาม และผลไม้แห้งทุกชนิด
นอกจากนี้ยังต้องควบคุมการทานอาหารที่มีฟอสฟอรัส เช่น รำข้าว เนยแข็ง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากนม ไข่ปลา ไข่แดง กุ้ง ปู และจำกัดอาหารประเภทโปรตีนไม่ให้มากเกินไป เพื่อลดภาระการทำงานหนักของไตอีกด้วย
ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.sanook.com