เคล็ดลับบริหารสมองให้ไบร์ทเพิ่มความจำ
หลายคนคงเคยเป็นอยู่ๆก็รู้สึกว่าตัวเอง ขี้หลงขี้ลืม สมองไม่สดใส ความจำพร่ามัว จำไม่ได้ว่าเก็บกุญแจไว้ไหน ถึงจะเป็นอะไรที่ดูเล็กน้อย แต่ก็ทำให้รู้สึกหงุดหงิดอยู่เหมือนกัน
มาลองดูวิธีบริหารสมอง ให้หายล้า พร้อมกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กันดีกว่าค่ะ
1. วาดภาพ และจดจำภาพ เสริมความคิดสร้างสรรค์
เป็นหนึ่งเทคนิค ที่ช่วยในเรื่องสมอง และความจำ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ถนัด ก็ลองจับดินสอ ขีดๆ เขียนๆ ยามว่างกันได้ และในการจดจำสิ่งต่าง ๆ หลายคนมีวิธีจดจำข้อมูลด้วยการจำแบบเป็นภาพ ซึ่งการให้ความสนใจและจดจำรูปภาพ หรือกราฟ ที่ประกอบอยู่ในหนังสือ หรือการจินตนาการสิ่งที่เรากำลังจดจำให้ออกมาในรูปแบบของภาพ รวมไปถึงการใช้ปากกาสีต่าง ๆ ไฮไลท์ส่วนที่สำคัญเอาไว้ ก็จะช่วยให้เราจดจำข้อความเหล่านั้นได้ง่ายขึ้นเช่นกัน มีงานวิจัยบอกไว้ว่า การจดจำรูปทรง และสร้างเป็นภาพนั้นเป็นการทำให้สมองของเรามีการทำงาน ช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานได้ดีขึ้น
2. วิ่งเท้าเปล่า
มาลองวิ่งเท้าเปล่ากันดีกว่า แต่ควรเป็นพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้ถอดรองเท้าวิ่งได้นะคะ อย่างเช่นพื้นบ้านที่สะอาด หรือพื้นหญ้านิ่มๆ จากการวิจัยของ มหาวิทยาลัยนอร์ทฟลอริดา ประเทศอเมริกา เผยว่า การวิ่งแบบนี้ จะทำให้เท้า สัมผัสกับพื้นโดยตรง ส่งผลให้ความจำของเราดีขึ้น เพราะ ประสาทรับรู้ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
3. เรียนรู้ สิ่งที่ไม่คุ้นเคย
สร้างความแปลกใหม่ให้ชีวิต ด้วยการเรียนรู้ สิ่งแปลกใหม่ ไม่เคยลองทำขนมก็ลองทำดู เข้าคอร์สฝึกภาษา หรือหัดวาดรูป สิ่งที่แปลกใหม่เหล่านี้ จะช่วยให้ สมองของเราได้ทำงานเพิ่มขึ้น
4. ฝึกโยคะ
มีงานวิจัย ที่ตีพิมพ์ใน วารสารโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเผยแพร่ไปทั่วโลกกล่าวไว้ว่า การฝึกโยคะ จะส่งผลดีต่อสมองและความจำ เพราะทำให้สมอง ได้รับออกซิเจนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการ ฝึกสมาธิอีกด้วย
5. ทานอาหารเพิ่มความจำ
- ขนมปังโฮลวีท ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ทำให้ร่างกาย ต้องค่อยๆ ดูดซับน้ำตาลอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีพลังงานต่อเนื่อง แถมยังทำให้ ไม่ง่วงเร็วด้วย
- อาหารตระกูลถั่ว อาทิ ถั่วลิสง วอลนัท ถั่วดำ อัลมอนด์ พวกนี้ นอกจากจะเป็นอาหารขบเคี้ยวเพลินๆ แล้ว ยังมีคุณค่าที่ดีต่อการทำงานของระบบสมอง คือโอเมก้า 3 และ วิตามินอี
- ปลาทะเล มีกรดไขมันโอเมก้า3 ที่ช่วยบำรุงระบบประสาท และสมอง ที่ร่างกายของเราสร้างเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ก็ควรรับประทานอย่างสม่ำเสมอ
6. ทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมองและความจำ
ทำกิจกรรมที่ช่วยให้เราได้ฝึกสมองอยู่เป็นประจำ เช่น การอ่านหนังสือ หรือเล่นเกมฝึกสมองต่าง ๆ นอกจากจะช่วยให้สมองได้ทำงานอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเรื่องความจำหรือโรคสมองเสื่อมอีกด้วย รวมไปถึงการฟังเพลงก็ช่วยได้เช่นกัน เพราะเพลงและดนตรีเป็นเหมือนกุญแจในการดึงเอาความทรงจำต่าง ๆ กลับมา จากงานวิจัยพบว่าดนตรีเป็นตัวช่วยอย่างดีในการเรียกความทรงจำ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้เรียนรู้ขณะฟังเพลง มักจะถูกเรียกกลับคืนมาเมื่อเราได้ฟัง หรือนึกถึงเพลงนั้นในครั้งต่อ ๆ ไป
7. ออกกำลังกาย
นักวิทยาศาสตร์มองว่าการออกกำลังกายเป็นหนทางออกสำหรับทุกปัญหา ซึ่งรวมถึงปัญหาในด้านความจำ เพราะการลงมือกระทำทางกายภาพจะเพิ่มความตื่นตัว และเพิ่มออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์ในสมองส่วนที่ตอบสนองต่อความทรงจำ โดยจากการศึกษาพบว่า หลังจากการออกกำลังกายเบา ๆ จะทำให้ผู้หญิงสามารถจำจดสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายมาตลอดช่วง 6 เดือนนั้น จะมีการพัฒนาความจำในส่วนของภาษาและสภาพแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
8. กำจัดสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด
ความโกรธหรือความกังวลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลเสียต่อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจดจำ ในบรรดาสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดทั้งหมด อาการซึมเศร้าเป็นสิ่งที่ทำร้ายสมองได้มากที่สุด เมื่อเรามีอาการซึมเศร้าจะทำให้สาร Cortisol หลั่งออกมามากขึ้น ซึ่งหากมีสารนี้อยู่บริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำระยะสั้นเป็นจำนวนมาก ก็อาจทำลายความสามารถในการจดจำสิ่งใหม่ๆได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่ามีอารมณ์ซึมเศร้า หรือเครียดก็ควรจะรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด
9. นอนหลับให้สนิท
การนอนหลับ 7 – 8 ชั่วโมงจะช่วยในเรื่องความจำได้ เพราะระหว่างที่กำลังนอนหลับ สมองจะซึมซับเอาเหตุการณ์หรือข้อมูลใหม่ ๆ ที่เพิ่งได้รับมา แล้วเก็บบันทึกไว้เป็นความจำระยะสั้น และพัฒนาต่อไปเป็นความจำระยะยาว ดังนั้นหากพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนหลับไม่สนิท ก็จะทำให้สมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ นอกจากการนอนหลับในช่วงกลางคืนแล้ว การที่ได้งีบระหว่างวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็เป็นการช่วยเรื่องการจดจำได้เช่นกัน