เทคนิคลดน้ำหนักอย่างถาวร
หากพูดถึงวิธีการลดความอ้วน หลายคนต้องนึกถึงการอดอาหารชนิดนั้น งดอาหารชนิดนี้ ตามสูตรลดน้ําหนักต่างๆ ซึ่งกว่าน้ําหนักจะลดลงมาได้สัก 2-3 กิโลกรัม ก็เหนื่อยจนแทบขาดใจ จริงๆแล้วหัวใจหลักของการกินเพื่อลดน้ําหนักนี้มีอยู่ข้อเดียว คือ “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ทั้งพฤติกรรมการกินอาหารและการดําเนินชีวิต เพราะน้ำหนักจะลดลงและคงสภาพไว้ได้ตลอดไป หากมีพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม มาดู 4 วิธีง่ายๆ เพื่อการลดน้ำหนักที่ผลลัพธ์ถาวรกันค่ะ
1. รู้จักเลือกกิน
- “ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานและไขมันสูง ควรกินอาหารที่มีแคลอรีต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ เพราะกินแล้วทําให้รู้สึกอิ่มเร็วและสบายท้อง”
2. กินอาหารที่มีค่าจีไอต่ำ (GI: Glycemic Index)
คือ ความเร็วในการสลายคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาล เมื่อกินอาหารที่มีค่าจีไอสูงเข้าไป ร่างกายจะย่อยคาร์โบไฮเดรตให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาลอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ร่างกายจึงต้องหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาในปริมาณมากเพื่อลดระดับน้ำตาลให้ต่ำลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เรารู้สึกหิวและอยากกินอาหารอีกทั้งๆ ที่เพิ่งกินไปไม่นาน ดังนั้นการป้องกันไม่ให้รู้สึกหิวและอยากกินอาหารอยู่ตลอดเวลา จึงควรเลือกกินอาหารที่มีค่าจีไอต่ำ คือ อาหารประเภทแป้งไม่ขัดขาว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ถั่วต่างๆ ผักและผลไม้บางชนิด เช่น แอ๊ปเปิ้ล ส้ม ฝรั่ง
3. กินอาหารครบทุกมื้อ
การอดอาหารไม่ใช่วิธีลดน้ำหนัก แต่เป็นการส่งสัญญาณว่า ร่างกายกําลังเกิดภาวะ ‘ขาดแคลน’ ทําให้ระบบเผาผลาญทํางานช้าลง แต่พอเรากลับมากินอีกครั้งก็จะกระตุ้นให้ร่างกาย เปลี่ยนแคลอรีเป็นไขมันสะสมมากขึ้น หากปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่างกายจะลดอัตราการเผาผลาญลง เพื่อสํารองพลังงานไว้ใช้ในยามจําเป็น ส่งผลให้เมื่อกลับมากินอาหารตามปกติหลังจากที่น้ำหนักลดลงแล้ว น้ำหนักจึงเพิ่มกลับมามากขึ้นกว่าเดิม
4. กินอาหารแบบคนญี่ปุ่น
หนึ่งในเคล็ดลับอายุยืนของชาวญี่ปุ่น คือ กินอาหารแค่พออิ่ม โดยให้รู้สึกอิ่มแค่เพียง 8 ใน 10 ส่วนเท่านั้น เพื่อไม่ให้กินอาหารมากเกินความต้องการและป้องกันอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขณะกินเราควรถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่ารู้สึกอิ่มแล้วหรือยังอิ่มมากขนาดไหน เพื่อวัดความรู้สึกอิ่ม ซึ่งการกินอาหารให้ช้าลงจะช่วยวัดความรู้สึกอิ่มได้แม่นยํามากขึ้น
อาหารลดความอ้วน แถมช่วยผิวสวยใส สุขภาพดี
-
แบคทีเรีย กรดแล็กติก ช่วยปรับสภาพแวดล้อมในลำไส้
อาหารหมักดอง เช่น นัตโตะ มิโซะ โยเกิร์ต เป็นต้น มีเอนไซม์ และแบคทีเรียกรดแล็กติกสูง ช่วยเสริมการทำงานของแบคทีเรียที่ดี และปรับสภาพแวดล้อมภายในลำไส้
-
สารพฤกษเคมีต้านอนุมูลอิสระ
สารพฤกษเคมี มีคุณสมบัติต้านการเกิดออกซิเดชันของอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุของจุดด่างดำ และริ้วรอย การกินอาหารที่อุดมด้วยเอนไซม์เป็นประจำ จะทำให้ได้รับสารพฤกษเคมี จากธรรมชาติหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น ไลโคปีน (มีมากในมะเขือเทศ) มีสรรพคุณทำให้ผิวสวย ไอโซฟลาโวน ในถั่วเหลือง (เต้าหู้ นัตโตะ) ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง พอลิฟีนอล (ลูกเกด โกโก้) ช่วยชะลอการดูดซึมไขมัน และแอนโทไซยานิน (มะเขือม่วง สตรอว์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่)
-
กรดไขมันโอเมก้า-3
กรดไขมันโอเมก้า-3 เช่น กรดแอลฟาไลโนเลนิก (alpha linolenic acid) มีคุณสมบัติบรรเทาอาการภูมิแพ้ ลดการอักเสบ แก้ปัญหาผิวหยาบกร้าน บรรเทาอาการปวดประจำเดือน รวมทั้งอาการวัยทอง แต่เนื่องจากเกิดการออกซิเดชันได้ง่าย จึงควรนำมาใช้กับอาหารที่ไม่ผ่าน การปรุงด้วยความร้อน พบมากในน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ น้ำมันงาขี้ม้อน น้ำมันงา เป็นต้น
-
ผิวสวยด้วยเอนไซม์
การรับประทานผักผลไม้มากขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับวิตามิน และแร่ธาตุที่เรียกว่า “โคเอนไซม์” (Coenzyme) ซึ่งช่วยเสริมการทำงานของเอนไซม์ รวมทั้งเส้นใยอาหารธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพ และความงาน ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาภูมิแพ้อีกด้วย