fbpx skip to Main Content
วัยทอง

เรื่องสุขภาพสาววัย 40 up ไม่ควรพลาด

เรื่องสุขภาพสาววัย 40 up ไม่ควรพลาด

สาววัยทองหรือหญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน อายุช่วงวัยทองอายุ 48-49 ปี เนื่องจากผู้หญิงวัยนี้มักอยู่ในช่วงหมดประจำเดือนหรือบางรายอาจจะหมดช้าหรือเร็วกว่านั้นแตกต่างกันในตามสภาพร่างกายของแต่ละคน ในรายท่านที่สูบบุหรี่และดื่มสุราเป็นประจำร่างกายจะเข้าสู่ช่วงวัยทองเร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรีและไม่ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้หญิงที่ถูกตัดังไข่ออกจะเข้าสู่ภาวะวัยทองทันทีหลังจากผ่าตัดรังไข่ออกไป

ภาวะการหมดประจำเดือนในผู้หญิงวัยทอง

1. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ บางเดือนมาถี่ๆ แล้วทิ้งห่างไปหลายเดือนจากนั้นอาจจะกลับมาเป็นได้อีก ปริมาณของเลือดที่ออกอาจจะออกมากกว่าปกติหรือน้อยกว่าทุก 2-3 สัปดาห์

2. เกิดอาการร้อนวูบวาบ โดยประมาณ 3 ใน 4 สำหรับสตรีวัยหมดประจำเดือน นอกจากอาการร้อนวูบวาบแล้ว ยังพบว่าเหงื่อออกมามากแม้ยังอยู่ในที่ๆ มีอากาศเย็นก็ตามและโดยเฉพาะในเวลากลางคืนเหงื่อมักจะออกมากเป็นพิเศษ โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วง 2-3 ปีแรกนับจากประจำเดือนหมด และอาการของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนของแต่ละคนก็มักมีความรุนแรงที่แตกต่างกันไป

3. ปัญหาเรื่องการนอนหลับ มักมีอาการนอนหลับยากหรือนอนไม่หลับเป็นประจำ และตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อยหรืออาจตื่นเช้าเร็วกว่าปกติ

4. อารมณ์ไม่แน่นอน มีอารมณ์แปรปรวนได้ตลอด หงุดหงิด ใจร้อนและโกรธง่าย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย

5. เกิดปัญหาภายในช่องคลอด เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจึงส่งผลให้เนื้อเยื่อภายในช่องคลอดบอบบาง แคบและสั้นลง สารหล่อลื่นรวมทั้งความยืดหยุ่นก็ลดลงตามไปด้วยจนส่งผลให้เกิดความรู้สึกเจ็บในขณะมีเพศสัมพันธ์หรือมีอาการเจ็บๆ แสบคันตามมาได้ โดยอาการดังกล่าวย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เพราะเมื่อช่องคลอดแห้ง สารหล่อลื่นไม่มีดังเดิม เชื้อแบคทีเรียชนิดดีที่ป้องกันเชื้อแบคทีเรียชนิดร้ายก็ย่อมถูกทำลายไปด้วยจึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อเกิดขึ้นได้ง่ายนั่นเอง

6. ปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ เมื่อระดับเอสโตรเจนลดลงเนื้อเยื่อบริเวณเยื่อบุท่อปัสสาวะก็ย่อมบางลง ความแข็งแรงของกระเพาะปัสสาวะก็ลดลงตามไปด้วย ผู้หญิงวัยทองส่วนใหญ่จึงมักมีอาการปัสสาวะแล้วแสบ บางรายกลั้นปัสสาวะในเวลาไอ จามหรือตอนยกของหนักไม่ได้จนทำให้มีปัสสาวะเล็ดลอดออกมา

7. ผิวพรรณเหี่ยวย่นเกิดริ้วรอย เนื่องจากร่างกายเกิดการสร้างสารคอลลาเจนน้อยลง ผิวหนังจึงแห้งหยาบกร้านได้ง่าย สูญเสียความชุ่มชื้น ไม่เต่งตึงเปล่งปลั่งเหมือนเก่า ทั้งยังพ่วงมาพร้อมอาการคันยุบยิบ มีอาการอักเสบแพ้จากผดผื่นร่วมด้วยได้ง่าย ดังนั้น จึงควรหมั่นทาโลชั่นบำรุงผิวเป็นประจำเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวเสื่อมสภาพมากไปกว่าที่ควรเป็น

8. การเจริญพันธุ์เริ่มเสื่อมลง เพราะช่วงเวลาของการตกไข่เริ่มไม่มีความแน่นอนอาจทำให้ระบบการเจริญพันธุ์อ่อนแอลงตามไปด้วย แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้เสมอจนกว่าประจำเดือนจะหยุดอย่างถาวรเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีเต็ม

 

ผู้หญิงวัยทองกับการเกิดโรค
โรคที่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยทอง ได้แก่ โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและมะเร็งเต้านม เป็นต้น ดังนั้นเพื่อการรับมือป้องกันเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือเพื่อเตรียมรับฮอร์โมนทดแทนเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยควรทราบรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ เอาไว้ตลอดจนควรทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าวพร้อมกันด้วย

คำแนะนำด้านการทานอาหารสำหรับผู้หญิงวัยทอง
อยากให้ร่างกายแข็งแรงห่างจากโรคที่พ่วงมาพร้อมภาวะวัยทองต่างๆ ทั้งนี้ เราสามารถดูแลสุขภาพตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ภัยเหล่านั้นจะมาเยือนได้ง่ายๆ ด้วยการใส่ใจรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกต้องตามหลักโภชนาการอย่างแท้จริง โดยผู้ป่วยสามารถศึกษารายละเอียดจากข้อมูลดังต่อไปนี้ได้เลยค่ะ

1. รับประทานผักผลไม้ ถั่วต่างๆ โดยเฉพาะถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหูหลอด เต้าหู้แผ่นและอาหารประเภทธัญพืช เป็นต้น โดยควรหมั่นทานเป็นประจำ

2. ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมัน ไม่ควรทานอาหารจำพวกไขมันเกินร้อยละ 30 จากพลังงานที่ได้รับต่อวัน แนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงการทานอาหารซึ่งเป็นไขมันจากสัตว์ เลี่ยงอาหารที่ได้ผ่านการแปรรูปจากไขมัน พวกกรดไขมันทรานส์ (trans fatty acid) เช่น เนยขาว โดนัท มาร์การีนและมันฝรั่งทอด เป็นต้น ทั้งนี้ ควรเลือกใช้น้ำมันที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันงาและน้ำมันมะกอก

3. ควรทานอาหารให้ครบถ้วนหลากหลาย เช่น ทานปลาทะเล ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้และลดปริมาณการทานเนื้อแดงให้น้อยลง

4. ลดปริมาณอาหารที่ให้คลอเรสเตอรอลสูง โดยควรทานไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม

5. เพิ่มปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอย่างเช่น ข้าวกล้องและธัญพืชเป็นประจำมากขึ้น

6. ลดปริมาณการทานอาหารรสเค็มและควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ 8-10 แก้ว

7. สำหรับการดื่มนมเพื่อเสริมสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรง แนะนำให้ดื่มนมพร่องไขมันแทน

8. ควรรักษารูปร่างหรือรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสม

9. ควรทานอาหารให้ได้ทุกมื้ออย่างเพียงพอและไม่ควรงดทานอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะย่อมมีผลเสียต่อร่างกายได้

10. งดสูบบุหรี่หรือลดปริมาณให้น้อยลงจนสามารถเลิกได้ในที่สุด พร้อมกันนี้ ควรเลิกดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์และสุราอันเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้ร่างกายเสื่อมสภาพและเข้าสู่ภาวะวัยทองได้รวดเร็ว

การดูแลสุขภาพของผู้หญิงวัยทองด้วยตนเอง
การดูแลสุขภาพของผู้หญิงวัยทองคุณสามารถใส่ใจพื้นฐานการดำเนินชีวิตเบื้องต้นง่ายๆ ด้วยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอโดยนอนวันละ 7-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายเป็นประจำและไม่เครียด หมั่นทำใจปล่อยวางอย่างผ่อนคลาย สำหรับในเรื่องของการรับประทานอาหารนั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเราจะต้องทานอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนการทั้ง 5 หมู่ เน้นทานอาหารที่ให้แคลเซียมสูง เช่น นมสด โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่วทุกชนิด เต้าหู้ งาดำ ปลาตัวเล็กและผักใบเขียวต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากแคลเซียมที่เราทานเข้าไปจะเข้าไปเสริมสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรงจึงสามารถป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ นอกจากนี้ ยังต้องควบคุมระดับของคลอเรสเตอรอลในกระแสเลือดไปพร้อมกันด้วย โดยควรงดทานอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลสูงแต่หันมาทานอาหารที่เน้นกากใยและย่อยง่ายจะดีกว่า และเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงผู้หญิงวัยทองควรใส่ใจพฤติกรรมของตนเองอย่างมีวินัยมากขึ้นดังนี้
– ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ โยคะ ปั่นจักรยาน รำมวยจีน เต้นรำและเต้นแอโรบิก เป็นต้น
– ปรับสภาพจิตใจให้ผ่อนคลายอยู่เสมอ โดยหมั่นควบคุมจิตใจตนเองไม่ให้เครียด รู้จักมองโลกในแง่ดีเพื่อที่จิตใจจะได้สดใสเบิกบาน
– ตรวจสุขภาพเสมอปีละ 1 ครั้ง การตรวจสุขภาพจะทำให้เรารู้เท่าทันการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ก่อนสายเกินไป เพื่อจะได้ตรวจหาภาวะความดันโลหิต ตรวจหาระดับไขมันในเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลู ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก(Bone mineral density) ตรวจหามะเร็งเต้านม (Mammography) และการตรวจหาระดับฮอร์โมนซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะของวัยทองไปพร้อมกัน
– หากพบว่ามีอาการผิดปกติในร่างกาย เช่น กระดูกพรุนหรือกระดูกเปราะบางก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำการตัดสินใจพิจารณาเพื่อรับฮอร์โมนทดแทนตามความเหมาะสม

ประโยชน์จากการได้รับฮอร์โมนทดแทน
ก่อนอื่นจะต้องทราบความหมายกันก่อนว่าการให้ฮอร์โมนทดแทนนั้นคือการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดที่ผ่านการสกัดมาจากธรรมชาติ(Bio-identical Hormone) ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างคล้ายคลึงกันกับฮอร์โมนเพศหญิง ขณะเดียวกัน การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นแพทย์อาจพิจารณาให้ควบคู่กันพร้อมกับฮอร์โมนโปรเอสเตอโรนด้วยซึ่งเป็นฮอร์โมนในผู้หญิงอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกันกับฮอร์โมนเพศในมนุษย์ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ

ผลลัพธ์ที่ได้จากการรับฮอร์โมนทดแทน
– ผู้ป่วยจะมีอาการนอนหลับสบายยิ่งขึ้น ลดอาการร้อนวูบวาบ ช่วยคลายความกังวลใจ ลดภาวะอาการซึมเศร้า เหนื่อยและใจสั่นง่าย
– เสริมสร้างคอลลาเจนผิวทำให้ผิวพรรณเต่งตึงและชุ่มชื้นได้มากขึ้น ช่วยลดอาการอักเสบในผิวหนัง ส่งผลให้เส้นผมหนาดกดำและช่วยลดปัญหาเส้นผมหลุดร่วงจนศีรษะบางลงได้
– เพิ่มระดับความจำ ลดอาการขี้ลืมและทำให้มีสมาธิดีขึ้น
– หากได้รับร่วมกับแคลเซียมจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกให้แข็งแรงดังเดิมได้ อีกทั้งจะยิ่งดีมากถ้าผู้ป่วยหมั่นออกกำลังกายควบคู่กันอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้ผลที่ได้รับจากการให้ฮอร์โมนทดแทนนั้นอาจมากน้อยล้วนขึ้นอยู่กับสุขภาพและสภาวะจิตใจที่แตกต่างกันของผู้ป่วยในแต่ละรายไป
– ตื่นมารับแสงอาทิตย์ในยามเช้าเนื่องจากแสงแดดมีวิตามินดีที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งเหมาะสมอย่างมากสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทอง

การให้ฮอร์โมนทดแทนในวัยทองจะแบ่งไปตามลักษณะการใช้ ดังนี้
– สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว
 จะให้เป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการวัยทองให้ดีขึ้น โดยมีทั้งแบบชนิดรับประทาน ทาผิวหนังและแบบแผ่นแปะ
– สำหรับผู้หญิงที่ยังมีมดลูกอยู่ปกติ จะให้เป็นฮอร์โมนที่ประกอบไปด้วยฮอร์โมนทั้งสองชนิดที่มีอยู่ในร่างกายผู้หญิงอยู่แล้วก็คือเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนตามธรรมชาติ สำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติหรือเกิดเป็นมะเร็งในเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นได้

ในการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้น คุณสมบัติหลักของฮอร์โมนชนิดนี้จะมีหน้าที่หลักคือช่วยควบคุมอวัยวะทางระบบเจริญพันธุ์ซึ่งทำให้วัยเด็กก้าวเข้าสู่วัยสาวและมีประจำเดือนกระทั่งมีบุตรได้อย่างสมบูรณ์เต็มตัว นอกจากนี้ ฮอร์โมนดังกล่าวยังมีผลดีต่ออวัยวะภายในร่างกายส่วนอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ เส้นเลือด หัวใจ สมองและกระดูก ฮอร์โมนเอสโตรเจนโดยส่วนใหญ่แล้วมักถูกสร้างขึ้นจากรังไข่ ส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกสร้างขึ้นมาจากไขมันบริเวณผิวหนัง รังไข่นั้นจะมีการผลิตฮอร์โมนลดลงเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วอายุ 40 ปีขึ้นไป และหยุดการผลิตก็ต่อเมื่อร่างกายหมดประจำเดือนไปแล้ว และโดยอายุเฉลี่ยสำหรับผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ที่หมดประจำเดือนไปแล้วก็คือวัย 45-51 ปี

แต่หากรังไข่ทั้งสองข้างของผู้หญิงถูกผ่าตัดออกในขณะที่ยังไม่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็ตามก็ย่อมทำให้ร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลงคล้ายกับช่วงหมดประจำเดือนไปแล้วได้เช่นเดียวกัน แต่อาจจะมีอาการที่รุนแรงกว่าเนื่องจากฮอร์โมนในเพศหญิงได้หมดไปจากร่างกายแล้ว สำหรับฮอร์โมนที่มักนิยมใช้เพื่อทดแทนนั้นมีด้วยกันหลายชนิด แต่ผู้คนมักนิยมใช้ชนิดที่สกัดจากธรรมชาติหรือ Bio-Identical Hormone สำหรับการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนกับผู้ป่วยวัยทองนั้นสามารถให้ได้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น การรับประทาน แบบแผ่นแปะ เจลหรือสำหรับสอดช่องคลอด ทั้งนี้ล้วนขึ้นอยู่ที่การพิจารณาเพื่อรักษาจากแพทย์ให้เกิดความเหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยวัยทองในแต่ละรายไป

 

สำหรับการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จุดประสงค์หลักก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นและป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย โดยมีกลไกสำคัญกล่าวคือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะมีคุณสมบัติที่สามารถยับยั้งการสังเคราะห์ DNA จึงช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์และลดปริมาณตัวรับต่อจากฮอรโมนเอสโตรเจนไปสู่เซลล์เป้าหมายได้ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจากธรรมชาตินั้นมีด้วยกันหลายชนิด สำหรับการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในผู้หญิงที่ได้รับเอสโตรเจน ขนาดและระยะเวลาของการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนย่อมเป็นสิ่งสำคัญและจะได้รับก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาการให้ให้เป็นไปตามความเหมาะสมกับอาการและสภาพร่างกายซึ่งต้องเป็นไปตามความถูกต้องเท่านั้น

อาการข้างเคียงจากการรับฮอร์โมนทดแทน
– มีเลือดออกทางช่องคลอดซึ่งอาจพบได้บ่อยจนทำให้ผู้ป่วยไม่อยากรับฮอร์โมนทดแทนอีก ส่วนใหญ่มักพบในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังจากเริ่มรับฮอร์โมนทดแทน เมื่อรับฮอร์โมนทดแทนอย่างสม่ำเสมอแล้วร่างกายจะเกิดภาวะการปรับตัวที่สมดุลและทำให้เลือดที่เคยไหลออกจากช่องคลอดหายไปเองได้ตามธรรมชาติ
– อาการเจ็บเต้านม เป็นอาการในช่วงแรกหลังจากได้รับฮอร์โมนทดแทน หลังจากนั้นอาการเจ็บปวดดังกล่าวก็จะบรรเทาลงและหายไปเองได้
– มีอาการปวดศีรษะไมเกรน
– น้ำหนักตัวเพิ่ม แท้จริงแล้ว การรับฮอร์โมนทดแทนไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันที่ไม่ได้ใส่ใจดูแลเรื่องการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้เป็นไปอย่างสมดุลกัน อีกทั้งเนื่องจากอายุที่มากขึ้นจึงส่งผลให้ระบบเผาผลาญจึงทำงานเสื่อมประสิทธิภาพลงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การให้ผู้ป่วยได้รับฮอร์โมนทดแทนมักจะให้ในปริมาณที่ต่ำหรือเทียบเท่ากับระดับปกติที่ร่างกายเคยมีอยู่แล้วเท่านั้น แพทย์จะไม่อนุญาตให้ได้รับมากเกินขนาดความพอดี ดังนั้น ผลข้างเคียงจากการได้รับฮอร์โมนจึงเกิดขึ้นน้อย ผู้ป่วยจึงไม่ต้องหวาดวิตกกับผลข้างเคียงที่อาจส่งผลให้สุขภาพย่ำแย่ตามมา

เรื่องสุขภาพของคนเราแท้จริงแล้วไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ว่าจะช่วงวัยใดหรือแม้แต่สมัยยังสาวๆ ก็ตาม ในปัจจุบันเนื่องจากโรคภัยร้ายแรงล้วนคุกคามสุขภาพคนเราได้รวดเร็วก่อนวัยอันควร โดยที่เราอาจไม่ทันได้รู้ตัวล่วงหน้าด้วยซ้ำ ดังนั้น อย่ารอให้อายุมากขึ้นจนเฉียดย่างเข้าวัยเลข 4 Up กันเลยเราถึงจะหันมาเตรียมตัวใส่ใจเพื่อรับมือป้องกันปัญหาที่อาจมาพร้อมภาวะวัยทอง เพราะฉะนั้น แนะนำให้รีบหันมาดูแลตัวเองให้แข็งแรงกันเนิ่นๆ เสียแต่ตอนนี้ เมื่อวัยที่สภาพร่างกายร่วงโรยแล้ว สุขภาพของเราจะได้มีภูมิต้านทานที่ยังคงแข็งแกร่งและสมดุลดังเดิมหรืออย่างน้อยก็ยังสามารถต้านอาการวัยทองต่างๆ ไม่ให้คุกคามร่างกายหนักได้ด้วย

Back To Top