โรคกระดูกสันหลังคดคืออะไร ?
โรคกระดูกสันหลังคด…คนเป็นกันมาก แต่ไม่รู้ตัว
ภาวะโรคกระดูกสันหลังคด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและถูกเพิกเฉย มิได้ป้องกัน หรือรักษาซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยกว่าจะมาพบแพทย์ ก็มีอาการคดมากเดินตัวเอียง หรือบางรายมีอาการปวดหลัง ภาวะโรคกระดูกสันหลังคดส่วนใหญ่ “80 % พบว่าไม่มีสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน จึงเรียกว่า กระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis)” ซึ่งในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ในการพัฒนาการรักษาแก้ไขโรคกระดูกสันหลังคดให้กลับมาอยู่ในสภาวะใกล้เคียงปกติมาก ทั้งนี้การรักษาจะได้ผลดีมากหากได้รับการรักษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม
โรคกระดูกสันหลังคดคืออะไร ?
การที่กระดูกสันหลัง เริ่มโค้งงอไปทางด้านข้าง หากวัดมุมส่วนโค้ง หรือที่เรียกว่า มุมที่กระดูกสันหลังคด (Cobb angle) มากกว่า 10° ส่วนใหญ่ 80 % ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ที่เรียกว่า โรคกระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) ในกลุ่มผู้ป่วยที่พบว่ามีการคดของกระดูกสันหลังช่วงอายุ 10-15 ปี เชื่อว่ามีการถ่ายทอดจากกรรมพันธุ์ ถึง 10 % กระดูกสันหลังคดส่วนที่พบมีสาเหตุชัดเจน ที่พบบ่อยๆได้แก่ ภาวะโรคกระดูกสันหลังคดตั้งแต่กำเนิด (Congenital Scoliosis) ซึ่งพบว่าเกิดจากรูปร่างกระดูกสันหลังมีความผิดปกติ, ภาวะกระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของเอ็นกล้ามเนื้อระบบประสาท (Neuromuscular Scoliosis)
รู้ได้อย่างไรว่าโรคกระดูกสันหลังคด ?
1. ให้ผู้ป่วยยืนหันหลัง และมองหาลักษณะที่ผิดปกติ ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะโรคกระดูกสันหลังคด เช่น
• ความสูงของระดับหัวไหล่ไม่เท่ากัน
• ความนูนของกระดูกสะบักไม่เท่ากัน
• ระดับแนวกระดูกสะโพกไม่เท่ากัน
2. ให้ผู้ป่วยยืนเท้าชิดกัน และให้ก้มไปด้านหน้า ใช้มือ 2 ข้าง พยายามแตะพื้น (Adam’ s forward bending test) จะเห็นความนูนของหลังไม่เท่ากัน (Rib Hump)
การรักษาโรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ต้องผ่าตัด
• ก่อนอื่นผู้ป่วยและญาติต้องเข้าใจภาวะของโครงกระดูกสันหลังคด และการดำเนินโรค และคอยช่วยแพทย์สังเกตความเปลี่ยนแปลงความคดของกระดูกสันหลัง และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
• ใช้ในกรณีผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังคดมีมุมองศาที่คดไม่มาก ไม่มีภาวะ การเสียสมดุล (ลำตัวไม่เอียงมาก) ไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาท
• การรักษาจะใช้เสื้อเกราะ (Brace) ใส่ป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น ให้ใส่ตลอดประมาณ 23 ชั่วโมงต่อวัน ยกเว้น อาบน้ำชำระร่างกายให้ถอดได้
• การใส่เสื้อเกราะจะต้องใส่จนเด็กหยุดเจริญเติบโต และค่อยๆ ลดจำนวนชั่วโมงที่ใส่ลง จนแน่ใจว่ากระดูกสันหลังไม่คดมากขึ้นแล้ว ก็หยุดใส่ได้ สำหรับผู้ป่วยใกล้จะหยุดโต หรือไม่โตขึ้นแล้ว เสื้อเกราะก็จะไม่มีประโยชน์
การผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังคด
การเลือกวิธีผ่าตัดของแพทย์ ขึ้นอยู่กับปัจจัย หลายอย่าง เช่น ความยืดหยุ่น หรือความเว้าของกระดูกสันหลังคด ซึ่งต้องพูดคุยเข้าใจเป้าหมายการผ่าตัด ตลอดจนญาติ และผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาแก้ไขความคดของกระดูกมากน้อยแค่ไหน เพื่อจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกันทั้ง 2 ฝ่าย และสิ่งที่สำคัญคือ ความชำนาญ ประสบการณ์ และความคุ้นเคยในการผ่าตัดของแพทย์ผู้จะทำการผ่าตัด เพื่อให้กระดูกกลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด
ภาวะโรคกระดูกสันหลังคด สามารถรักษาให้กลับมาใกล้เคียงภาวะปกติได้ หากได้รับการรักษาโดยถูกวิธีและในเวลาที่เหมาะสม
อ้างอิง จากโรงพยาบาลพญาไท