โรคภูมิแพ้หวัด (ภูมิแพ้ โพรงจมูกอักเสบ) (Allergic Rhinitis)
โรคภูมิแพ้หวัด (ภูมิแพ้ โพรงจมูกอักเสบ) (Allergic Rhinitis)
โรคภูมิแพ้หวัด หรือ ที่เรียกว่า Allergic Rhinitis หรือเรียกสั้นๆว่า AR มาฝากครับ
Allergic Rhinitis หรือเรียกสั้นๆ ว่า AR เป็นโรคที่เกิดจากการมีการอักเสบ (Inflammation) ในช่องจมูก ที่มักจะก่อให้เกิดอาการน้ำมูก
ไหลเป็นน้ำ คันในโพรงจมูกและคันตา โรคนี้เป็นโรคที่พบบ่อยมากในประชากรทั่วไป ซึ่งมักจะเกิดอาการเมื่อคนผู้นั้นได้รับสารที่ตนแพ้ เช่น โดนฝุ่นละออง สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ขน หรือแม้แต่ได้รับละอองเกสรดอกไม้ ดอกหญ้าต่างๆ ตามฤดูกาล
สองในสามของคนไข้จะแสดงอาการของโรคภูมิแพ้ ก่อนอายุ 30 ปี แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นโรคนี้สามารถเริ่มเกิดขึ้นได้ในทุกๆ วัย และไม่จำกัดเพศ
กรรมพันธุ์ ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งในการเกิดโรคนี้ ได้มีการประมาณกันว่า เด็กที่มีพ่อหรือแม่ (คนใดคนหนึ่ง) เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยประมาณ 30 % แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 50%
โรคนี้ก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมาก พอสมควร คือทำให้คนต้องหยุดงาน เพราะความเจ็บป่วย ประเทศต้องเสียเงินทองในการจัดสรรงบประมาณในการรักษาควบคุมโรคนี้ เป็นจำนวนมากต่อปี
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรค
โรคนี้มีทั้งแบบเป็นโรคคือแสดงอาการ บางฤดูกาล (Seasonal) และมีอาการตลอดทั้งปี (Perennial)
- ตัวไรฝุ่น, แมลงสาบ, เชื้อรา, รังแคของสัตว์เลี้ยง เป็นตัวอย่างของสาเหตุของโรคภูมิแพ้ที่เป็นตลอดทั้งปี ยกตัวอย่างเช่น สารก่อภูมิแพ้ที่เกิดจากแมว นั้นเกิดจากสารโปรตีนที่ผลิตออกมาจากต่อมขนของแมว ซึ่งสารโปรตีนนี้สามารถลอยอยู่ในอากาศได้ถึง 6 ชั่วโมง และอยู่ในห้องนั้นได้หลายเดือนแม้ว่าจะนำแมวนั้นออกไปจากห้องนั้นแล้วก็ตาม
- ละอองเกสรดอกไม้ ดอกหญ้าและสปอร์ของเห็ด เป็นตัวอย่างของสาเหตุของโรคภูมิแพ้ที่เป็นฤดูกาล
อาการของโรค AR
- อาการจามบ่อยๆ จามเป็นชุดๆ
- อาการมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำ
- มีน้ำมูกไหลลงคอ
- อาการคัดจมูกหายใจไม่สะดวก
- อาการคันตา คันหู คันจมูก คันคอ
- มีอาการอ่อนเพลีย
- ในบางรายอาจจะมีอาการ หายใจเสียงดัง น้ำตาไหล เจ็บคอ และสูญเสียสมรรถภาพการได้กลิ่น
- อาการไอเรื้อรังอาจจะเกิดขึ้นได้จากการมีน้ำมูกไหลลงคอเรื้อรัง
- อาการปวดบริเวณหน้าและดั้งจมูก ก็อาจจะพบได้
- อาการหูอื้อก็เกิดขึ้นได้ จากการบวมของท่อปรับความดันของหูส่วนกลาง อันเกิดมาจากอาการหวัด
การวินิจฉัยโรค AR
เมื่อแพทย์ได้ทำการซักประวัติของคนไข้ถึงอาการต่างๆ ดังข้างบนแล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจจะพบอาการดังต่อไปนี้
- ตรวจในโพรงจมูกอาจจะพบ เยื่อบุโพรงจมูกขาวซีด หรือ สีม่วง อันเนื่องมาจากการบวมของหลอดเลือดดำในโพรงจมูก
- อาจจะตรวจพบ ติ่งเนื้อในโพรงจมูก (Nasal Polyp)
- มีอาการบวมของเปลือกตา
- มีอาการแดงของตาขาว
- มีอาการขอบตาล่างดูคล้ำ (Allergic Shiners) เชื่อกันว่าเกิดจากการคั่งของเลือดดำในหลอดเลือดดำบริเวณนี้
- มีการเพิ่มขึ้นของชั้นพับของเนื้อที่เปลือกตาล่าง (Extra Skin Fold)
- การทำ Skin Test อาจจะเป็นการตรวจที่ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรค AR
การรักษาโรค AR
เป้าหมายในการรักษาโรคก็คือ การลดอาการของโรคนี้ลง การหลีกเลี่ยงสิ่งที่เราแพ้เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการรักษาโรคนี้ แต่การรักษาเพื่อการลดอาการก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ในการทำให้คนไข้ลดความทุกข์ทรมานลง ยาที่ใช้อาจจะมีดังนี้
1. ยากลุ่ม Antihistamine and Decongestants
- Decongestants คือยาที่ช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก เช่น Pseudoephridine
- Antihistamine คือยาที่ช่วยลดอาการแพ้ หรือมีน้ำมูก หรือคันตามเยื่อบุต่างๆ เช่น Chlorpheniramine, Brompheniramine, Loratadine, Fexofenadrine เป็นต้น
2. ยาพ่นจมูก (Nasal Spray)
เช่น Steroid Spray ซึ่งมักจะได้ผลดี จนในที่สุดเราจะสามารถหยุดยากินในกลุ่ม Antihistamine and Decongestants ได้ แต่ยากลุ่มนี้มักจะไม่เห็นผลทันทีที่ใช้ อาจจะจำเป็นต้องรอดูผล 1-2 สัปดาห์หลังจากเริ่มใช้ ถ้าคนไข้มีอาการบวมที่โพรงจมูก หรือมีอาการทางจมูกค่อนข้างมาก อาจจะจำเป็นต้องใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ชนิดกินในระยะสั้นๆ นำไปก่อน ก็ได้ผลดียิ่งขึ้น
3. การรักษาด้วยวิธีทางอิมมูน (Immunotherapy หรือ Allergic Shot)
วิธีการนี้คือการฉีดสารที่ผู้ป่วยแพ้ ในปริมาณน้อยๆแล้วเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ส่งผลให้ ร่างกายของผู้ป่วยมีความไวต่อสารแพ้นั้นๆ น้อยลง และช่วยเพิ่มปริมาณของ Antibody (ที่ไม่ใช่ตัวที่ก่อขบวนการของภูมิแพ้) ที่จะไปแก่งแย่งจับกับสารแพ้ เมื่อสารแพ้เข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้น้อยลง ในอนาคต
ก่อนเริ่มการรักษาวิธีนี้ แพทย์จะทำการตรวจทั้ง Skin Test และการตรวจเลือดเพื่อหาสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ หรือตัวกระตุ้นโรคภูมิแพ้ของผู้ ป่วย ที่จำเพาะเจาะจงก่อน
การรักษาด้วยวิธี Immunotherapy หรือ Allergic shot อาจจะบ่งชี้ในคนไข้ที่
- ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการใช้ยา
- มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- เป็นโรค ไซนัสอักเสบซ้ำซาก หรือหูอักเสบซ้ำซาก
- ไม่มีความตั้งใจในการรักษาด้วยยา
- ไม่สามารถใช้การรักษาด้วยยาได้ (เช่น มีความบกพร่องทางปัญญา)
- ไม่อยากใช้การรักษาด้วยยาในระยะยาว
การรักษาด้วยวิธีนี้ เริ่มด้วยเมื่อตรวจสอบพบแล้วว่าผู้ป่วยแพ้อะไรที่จำเพาะเจาะจง ก็เริ่มทำการฉีดสารแพ้นั้นในปริมาณน้อยๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยทุกๆ สัปดาห์ และปริมาณของสารแพ้ที่ฉีด และระยะห่างในการฉีดก็จะเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ จนถึงเหลือการฉีดเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ผลข้างเคียงในการฉีดคือ การปวดบวม ณ.จุดที่ฉีด แต่อย่างไรก็ตามการแพ้อย่างรุนแรง แบบ Anaphylaxis ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง
การรักษาด้วยวิธี Immunotherapy ไม่ได้ทำให้โรค AR หายขาด แต่ 85% ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาวิธีนี้ อาการของโรคลดลงมากได้เป็นระยะเวลานาน หลังจากที่ไม่ค่อยมีอาการ 2-3 ฤดูกาลต่อเนื่องกัน เราก็อาจจะสามารถหยุดการฉีดสารแพ้ได้ และ 60% ของคนไข้ที่หยุดฉีดสารแพ้ ก็ยังพบว่าอาการของโรคก็ยังคงน้อย ทำให้อาจจะไม่ต้องใช้ยากินช่วยเสริมมากนัก อย่างไรก็ตามการปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบตั วก็มีความสำคัญในการปฏิบัติควบคู่ กันไปด้วยกับการรักษาที่กล่าวมาข้างต้นทุกชนิด
การดูแลรักษาตนเอง
- การหลีกเลี่ยงละอองเกสรดอกไม้ ดอกหญ้านั้นทำได้ลำบากเมื่อออกไปภายนอกบ้าน แต่ถ้าอยู่ในบ้านการปิดประตูหน้าต่าง แล้วเปิดเครื่องปรับอากาศ จะช่วยลดการได้รับสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้ประเภทนี้ได้
- การตัดหญ้า หรือดายหญ้า ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่คนที่แพ้เชื้อรา หรือสปอร์ของเห็ด ควรหลีกเลี่ยง เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้สารแพ้ดังกล่าวฟุ้งกระจายมากขึ้น
- เสริมสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัว ให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้น้อยๆ เช่นใช้ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน กันไรฝุ่น หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าขนสัตว์ งดใช้ของใช้ในบ้านที่อาจจะเก็บกักฝุ่น เช่น งดการปูพรมในบ้านเป็นต้น
- การใช้เครื่องฟอกอากาศก็มีประโยชน์มากเช่นกัน
ขอบพระคุณบทความและภาพจาก: http://medicarezine.com/2012/03/allergic-rhinitis/