เคล็ดลับง่ายๆ กินได้สุขภาพดี
ใครๆก็อยากมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงด้วยกันทั้งนั้น แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยิ่งเป็นการรักษาสุขภาพในระยะยาวด้วยแล้ว ยิ่งต้องให้ความใส่ใจกันเป็นพิเศษ บางคนถึงกับกังวลว่าเราทำได้ถูกวิธีหรือเปล่า มาดูกันว่าเคล็ดลับกินให้สุขภาพดีมีอะไรบ้าง
กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย
ยึดอาหารหลัก 5 หมู่ และเพิ่มความสำคัญของการกินอาหารแต่ละหมู่ให้มีความหลากหลาย ไม่จำเจอยู่เพียงอาหารไม่กี่ชนิด น้ำหนักตัวเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างง่ายถึงภาวะสุขภาพ ในผู้ใหญ่ที่กินอาหารได้เหมาะสม จะมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม มีรูปร่างที่ไม่อ้วนหรือผอมเกินไปและมีน้ำหนักตัวค่อนข้างคงที่ หากสังเกตเห็นว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากน้ำหนักปกติ แสดงให้เห็นว่าเริ่มกินอาหารมากเกินไปแล้ว ควรจะต้องหันมาควบคุมลดปริมาณให้น้อยลง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เสื้อผ้าคับก่อนที่เริ่มรู้สึกตัวเพราะเสื้อผ้าสมัยใหม่มักนิยมใช้สายยืดเพื่อให้สวมใส่สบาย หรือหากพบว่าน้ำหนักตัวลดลงเรื่อยๆ ก็ควรต้องให้ความสนใจพร้อมทั้งสังเกตว่ามีการอ่อนเพลีย ง่วง ซึม หรืออาการที่แตกต่างไปจากปกติเกิดขึ้นด้วยหรือไม่ ถ้ามีอาการมากควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ สำหรับเด็ก ร่างกายมีการเจริญเติบโต น้ำหนักตัวควรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่เหมาะสม ดังนั้น ควรหมั่นชั่งน้ำหนักตัวอย่างน้อยเดือนละครั้ง
เลือกกินผักและผลไม้หลากสี
เนื่องจากประเทศไทยมีพืชผักและผลไม้อุดมสมบูรณ์ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคได้ตลอดปี พืชผักและผลไม้ให้สารอาหารที่สำคัญหลายชนิด คือ วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร และให้สารอื่นที่มิใช่สารอาหาร เช่น สารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยไม่ให้อนุมูลอิสระทำลายเนื้อเยื่อและผนังเซลล์ ช่วยชะลอการเสื่อมสลายของเซลล์ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดูสดใส ไม่แก่เกินวัย นอกจากนี้ยังให้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรที่ช่วยรักษาสุขภาพ
กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ
การกินอาหารที่ให้โปรตีน โดยเน้นปลาและอาหารประเภทถั่วเมล็ดแห้ง เช่น เต้าหู้ชนิดต่างๆ สำหรับเนื้อสัตว์ให้เลือกที่ไม่ติดมัน หรือที่มีมันน้อย ไข่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ ควรกินเป็นประจำ เด็กควรกินวันละฟอง ผู้ใหญ่ภาวะปกติควรกินวันเว้นวัน หรือสัปดาห์ละ 2-3 ฟอง ส่วนคนที่มีปัญหาภาวะโคเลสเตอรอลสูงในเลือดควรลดปริมาณลง
ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
บางคนอาจมองเห็นว่าน้ำนมเป็นอาหารของต่างชาติ ไม่ควรส่งเสริมการบริโภค น่าจะให้คนไทยไปบริโภคอาหารอย่างอื่นจะดีกว่า อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาโดยรวม จะเห็นได้ว่าน้ำนมเป็นอาหารที่มีประโยชน์สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของโปรตีน แคลเซียม วิตามินบี 2 และแร่ธาตุต่างๆ นอกจากนี้น้ำนมเป็นอาหารที่กินง่าย ราคาไม่แพงเกินไป มีหลายชนิดหาได้ทั่วไป จีงเป็นการสะดวกที่จะใช้เป็นอาหารสำหรับคนทุกวัย
ในกรณีที่ห่วงว่าคื่มนมมากๆ อาจทำให้อ้วน ผู้บริโภคสามารถเลือกดื่มนมพร่องไขมันได้ และในเวลาเดียวกันควรควบคุมปริมาณไขมันในอาหารชนิดอื่นด้วย เพราะเพียงไขมันจากน้ำนมอย่างเดียวไม่น่าที่จะทำให้เกิดโรคอ้วน
ปริมาณที่แนะนำคือ เด็กควรดื่มวันละ 1-2 แก้ว ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรดื่มวันละ 1 แก้ว
กำจัดปริมาณแคลอรี่ในเครื่องดื่ม
เปลี่ยนการทานน้ำอัดลม น้ำหวาน สมูตตี้ หรือน้ำผลไม้ แล้วหันมาทานผลไม้สดที่ไม่มีรสหวาน หรือเลือกที่จะดื่มน้ำเปล่าให้ได้ 8-12 แก้วแทน เพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย รักษาระดับความเข้มข้นของเลือด ซึ่งจะทำให้เราสดชื่น มีพลังไปตลอดทั้งวัน หากเบื่อเมนูแบบเดิมๆอาจจะเปลี่ยนมาเป็น น้ำผักผลไม้แบบแยกกากดูก็ได้ค่ะ
กินมื้อเล็กๆ ทุก 4-5 ชั่วโมง
อาหารมื้อเล็กๆที่จัดแบ่งในแต่ละวัน จะช่วยให้ร่างกายของคุณไม่หิว และยับยั้งอาการปวดท้องและช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้คงที่ บ่อยครั้งที่ร่างกายเรามักจะโหยหาอาหารที่ชอบอย่าง เฟรนช์ฟราย นักเก็ตไก่ อาหารเหล่านี้เราไม่ได้บอกให้คุณอดเลยทันทีคะ เพราะนั่นจะเป็นการหักดิบที่มากเกินไป เพียงแต่ให้คุณเปลี่ยนเมนูจากทอดมาเป็นการอบแทน
เลือกอาหารออร์แกนิกแทนอาหารแปรรูป
อาหารออร์แกนิกเป็นอาหารที่ไม่ผ่านยาฆ่าแมลงและปลอดสารพิษ เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าและวิตามินแร่ธาตุที่สำคัญต่างๆ
เลือกไขมันดีมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร
ถึงแม้ไขมันจะเกี่ยวข้องกับปัญหาโภชนาการ เช่น โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูงที่นำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดได้ แต่ร่างกายต้องการไขมันเพื่อสุขภาพด้วยเช่นกัน เพียงแต่จะต้องควบคุมปริมาณ และชนิดของไขมันที่จะบริโภคให้เหมาะสม เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ช่วยในการเผาผลาญไขมันและลดปริมาณคอเรสเตอรอลที่ไม่ดีต่อร่างกาย ลดอาหารที่มีไขมันมาก เช่น หมูสามชั้น ขาหมูพะโล้ และอาหารที่ใช้น้ำมันหรือกะทิจำนวนมากในการประกอบอาหาร
ลดอาหารที่มีแคลอรีสูงทิ้ง
ลดอาหารที่มีแคลอรีสูงอย่างไอครีม น้ำหวาน น้ำผลไม้กล่อง น้ำอัดลม เปลี่ยนมาเป็น น้ำเปล่า ผลไม้สด น้ำผึ้ง เนยถั่ว เมล็ดทานตะวัน ซีเรียลธัญพืช เป็นต้น
งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
เมื่อดื่มมาก จะมีผลทำให้การทำงานของระบบสมองและประสาทช้าลง ทำให้เกิดการขาดสติได้ง่าย ที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคตับแข็งและการขาดสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด ดังนั้นควรลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.health-th.com , www.thaihealth.or.th