ป้องกันรักษาผิวไม่ให้เกิดขนคุด
ป้องกันรักษาผิวไม่ให้เกิดขนคุด
ขนคุดส่วนมากมักจะเกิดจากพันธุกรรม โดยมักเกิดมากในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีโอกาสเกิดขนคุดได้ง่าย และอีกหนึ่งสาเหตุคือการโกนขน ลักษณะขนคุด เป็นเส้นขนแทงขึ้นมาใต้ผิวหนัง เป็นจุดดำๆ ทำให้ผิวหนังเป็นตุ่มๆคล้ายสิว ในคนที่มีขนแข็ง ตุ่มอาจอักเสบจนแดงได้ จนอาจมีอาการเจ็บร่วมด้วย
กำเนิดขนคุด
ขนคุดในทางการแพทย์จะจัดอยู่ในกลุ่มของรูขุมขนอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อที่รูขุมขน หรือจากการที่ปลายเส้นขนเหล่านั้นไปแทงรูขุมขน จนทำให้เกิดการอักเสบ หรือจากการที่มีการอุดตันของรูขน ทำให้เส้นขนนั้นขดอยู่ในรูขุมขน ไม่สามารถจะโผล่ขึ้นมา
สาเหตุการเกิดขนคุดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มแรกคือ ผู้มีพันธุกรรมโรคภูมิแพ้จะมีโอกาสเกิดเป็นโรคขนคุดได้ง่าย บริเวณที่เกิดได้แก่ ต้นแขน ต้นขา หรือไหล่ เป็นต้น โรคขนคุดที่เกิดจากพันธุกรรมจะมีความผิดปกติของการสร้างเซลล์ผิวหนัง ที่ส่งผลให้มีการอุดตันของรูขุมขนด้วยสารเคราติน (keration) ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ส่งผลให้ขนไม่สามารถงอกทะลุรูขุมขนออกมาได้ เกิดเป็นขนคุดที่อยู่ใต้ผิวหนัง หรือในรูขุมขน เกิดอาการแดง การอักเสบเป็นหนอง เป็นฝี รอยดำ หรือแผลเป็น ขึ้นอยู่กับความรุนแรง โดยขนคุดที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรมนั้น จะเจอได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น อาการเป็นๆ หายๆ แต่อาจดีขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น
- กลุ่มที่สองจะเกิดจากตำแหน่งสรีระทางกายภาพของแต่ละคน เช่น บริเวณท้ายทอยต้นคอ ใต้คาง ขาหนีบ จะมีลักษณะที่พับทับกัน ในคนผมสั้น ผมหยิกอาจเกิดการทิ่มผิวหนังบริเวณรอยพับนั้นจนเกิดการอักเสบหรือ อาจจะทำให้ขนไม่ยอมขึ้น แล้วไปเบียดตัวอยู่ในรูขุมขน จนทำให้เป็นขนคุดได้
- กลุ่มที่สามคือ การโกนขน หนีบขน แหนบขน หรือการแว็กซ์ขนที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี เช่น การโกนขนหรือหนวดทวนทิศทางการงอก ทำให้เกิดปลายแหลมไปทิ่มแทงรูขนให้เกิดอาการอักเสบได้
อาการของโรคขนคุดเป็นอย่างไร
จากากรสะสมของโปรตีนเคราตินอุดตันรูขุมขน ทำให้ขนไม่สามารถงอกพ้นผิวหนังออกมาได้ตามปกติ จึงเกิดเป็นตุ่มตามรูขุมขนมากมาย ทำให้ผิวหนังดูสากคล้ายกระดาษทราย หรือหนังไก่ บริเวณที่พบได้ คือ หลังแขนและต้นขา บริเวณใบหน้าก็สามารถเกิดได้เช่นกัน ซึ่งมักพบในเด็ก ซึ่งบางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสิว แตกต่างกันที่ไม่เห็นหัวสิว ซึ่งตุ่มจากโรคขนคุดเหล่านี้มักมีสีเนื้อ มีการอักเสบได้บ้าง ซึ่งอาจทำให้มีรอยแดงหรือมีอาการคันร่วมด้วย
การรักษาขนคุด
หากมีอาการขนคุด หรือสงสัยว่าเป็นโรคขนคุด ควรพบปรึกษาแพทย์ผิวหนัง ในการตรวจวินิจฉัยนั้น ไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เนื่องจากโรคขนคุดจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่รักษาหายขาด เป็นเพียงการรักษาตามอาการ
ในคนที่เป็นขนคุดที่เกิดจากพันธุกรรม การรักษาคือ ให้ความชุ่มชื่นกับผิว เพื่อทำให้สิ่งที่อุดตันรูขุมขนนิ่มและหลุดออกง่าย การให้ยาบางตัวจะไปช่วยทำให้การผลัดเซลล์ดีขึ้นและมีฤทธิ์ทำให้เซลล์หลุดลอกนั่นเอง ซึ่งยาจะคล้ายๆ กับยารักษาสิว โดยจะลดอาการอักเสบอาการแดง หรือลดการติดเชื้อในกรณีที่มีจุดแดงๆ เป็นหนองเกิดขึ้น ยารักษาบางกรณีจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาปฏิชีวนะ ตามอาการของโรค ทั้งนี้ทั้งนั้นจำเป็นที่ต้องใช้ยาต่อเนื่องตามอาการ ถ้าไม่มีจุดแดง ก็ไม่ต้องใช้ยาลดการอักเสบ ใช้แค่ยาทำให้เซลล์ผลัดอย่างเดียว โดยจะต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มเห็นผล แต่สิ่งที่ตามมาจะมีเรื่องของรอยแดง หรือรอยดำที่เหลืออยู่ ถ้าของใหม่ไม่ขึ้น ของเก่าก็จะหายเลือนไปเหมือนรอยสิว
หากสาเหตุเกิดจากการโกนขนที่ผิดวิธี ก็ต้องดูแลที่วิธีการโกน ควรโกนตามแนวขนไม่ให้โกนย้อนขึ้น เพื่อมิให้ปลายขนแหลมสั้นเกินไป จนทิ่มแทงรูขน เพราะถ้าหากโกนย้อน อาจจะรู้สึกเกลี้ยงกว่า แต่อาจจะทำให้เกิดขนคุดได้ และที่สำคัญควรใช้มีดโกนที่สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางรอยถลอกจากการโกน
ผู้ที่มีขนคุดตามบริเวณข้อพับ ควรหลีกเลี่ยงการโกน หรือตัดผมสั้น โดยใช้ปัตตาเลี่ยน เพราะจะทำให้ขนที่เกิดใหม่ไปทิ่มแทง หากจำเป็นควรตัดโดยใช้หวีรอง แต่หากยังมีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อพิจารณายาปฏิชีวนะ หรือกำจัดขนถาวร ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถรักษาขนคุดด้วยวิธีการกำจัดขนถาวร เช่น การกำจัดขนด้วยไฟฟ้า, การใช้แสง IPL, การใช้แสงเลเซอร์กำจัดขนเป็นต้น
การกำจัดขนด้วยไฟฟ้า
โดยเครื่องมือชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นเข้มจี้ขนาดเล็ก โดยผู้ทำการรักษาจะสอดเข็มเข้าไปในรูขุมขน เพื่อทำการส่งกระแสไฟฟ้าไปทำงานรูขุมขน หรือโครงสร้างเนื้อเยื่อที่จะทำให้เกิดการสร้างขนด้านล่าง แต่วิธีนี้มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดแผลเป็นตรงบริเวณที่ทำได้ และถ้าหากการทำลายไม่สมบูรณ์ ก็อาจทำให้ขนนั้นงอกขึ้นมาใหม่และอุดตันรูขุมขน ทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบได้อีกด้วย การใช้แสง IPL (Intense Pulse Light) เป็นการใช้แถบแสงหลายความยาวของคลื่นที่ทำลายเส้นขน แต่ผลที่ได้ก็มีข้อจำกัด เพราะแสงนี้จะไม่มีความจำเพาะต่อเส้นขนมากพอ จึงทำให้ผลการรักษาไม่ดีนัก ซึ่งอาจจะทำให้ขนกลับมางอกได้ไวกว่าเดิม อีกทั้งระหว่างการรักษาก็อาจจะทำให้เกิดผิวไหม้ได้
การใช้เลเซอร์กำจัดขน
การใช้เลเซอร์กำจัดขน เป็นเทคโนโลยีกำจัดขนในปัจจุบันที่มีความสุขแน่นอนและปลอดภัยสูง หลักการทำงานของเลเซอร์ชนิดนี้ คือ ใช้แสงเลเซอร์ไปทำให้รูขุมขนที่ทำหน้าที่ในการสร้างขนมีการฝ่อเล็กลง พลังงานแสงเลเซอร์จะถูกส่งไปที่รากขน ส่งผลให้ขนใหม่ที่จะสร้าง ออกมามีขนาดเล็กลง และขนงอกช้าและทำให้บางลง และขนหายไปในที่สุด การกำจัดขนด้วยแสงจะทำลายเส้นขนประมาณ 15%-30% ภายหลังการรักษา 1 ครั้ง โดยทั่วไปต้องรักษาประมาณ 5-8 ครั้ง การรักษามักทำทุก 4-6 สัปดาห์ และผลของการรักษานั้น จะขึ้นอยู่กับสีของขนและสีผิวเท่านั้น โดยทั่วไปที่พบคนที่มีเส้นขนสีดำหรือสีดำเข้ม จะเห็นผลได้ดีกว่าคนที่มีเส้นขนสีอ่อน และคนผิวขาวจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าคนผิวคล้ำอีกด้วย
แม้ว่าการกำจัดขนจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันขนคุด แต่ก็ยังไม่สามารถเห็นผลได้ 100% เพราะฉะนั้น ถ้าหากต้องการกำจัดขนถาวร หรือใช้เลเซอร์ในการกำจัดขน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
การป้องกันและการดูแลตนเอง
เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคขนคุด มีพื้นฐานส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรม ดังนั้น จึงไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้เท่าที่ควร แต่การรักษาความชุ่มชื่นของผิวหนังจะช่วยลดการเกิดอาการได้
หลักการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคขนคุด คือ จะต้องรักษาความชุ่มชื่นของผิวหนังด้วยการทาโลชั่น การใช้บู่อ่อนๆ (เช่น สบู่เด็กอ่อน) ลดการระคายเคือง และงดอาบน้ำอุ่นทั้งนี้ เพื่อลดโอกาสการเกิดผิวแห้งและลดการกำเริบของอาการขนคุดลงได้
ในส่วนข้อควรระวัง ในช่วงที่เป็นขนคุด ไม่ควรที่จะขัด ถู เพราะหลายๆ คนคิดว่าการที่เป็นขนคุด จะเกิดจากการอุดตัน ซึ่งขนคุดเกิดจากสิ่งอุดตันก็จริง แต่การขัดถูกจะทำให้เกิดอาการอักเสบได้ คล้ายๆ กับคนที่เป็นสิวแล้วห้ามบีบสิว เพราะฉะนั้นการขัดไม่ใช่วิธีการรักษา การขัดจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้มากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อห้ามนั่นก็คือการแกะเกาขนคุด เพราะจะทำให้เกิดเป็นแผลแดง และบางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดการเลือดออกการแกะเกาบ่อยๆ จะทำให้เป็นแผลและเกิดรอยดำขึ้นได้ ควรสมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อไม่ให้รัดเสียดสีบริเวณที่เป็นขนคุด สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยลดการอักเสบบวมแดงได้
“ต้องทราบเสียก่อนว่าตัวเองนั้นเป็นขนคุดชนิดไหน เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง แม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคที่เราดูแลได้ง่าย แต่ที่เราเป็นกังวลจะเป็นเรื่องของความสวยงามเป็นส่วนใหญ่ คนที่มาไม่ได้มาเพราะเจ็บ แต่จะมาพบแพทย์เพราะความไม่สวย ไม่เนียน ถ้าหากได้รับการรักษาถูกต้อง และได้รับยาอย่างพอเหมาะแล้วนั้นจะสามารถทุเลา แม้ไม่หายเป็นปกติ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ได้ การรักษาด้วยการทายา ก็ควรจะเรียนรู้ว่ายาที่จะทานั้นเหมาะแก่การรักษาของเราหรือไม่ เพราะบางคนไปซื้อยามาเอง อาจจะทำให้ไม่ถูกกับโรคที่เราเป็นนัก เพราะฉะนั้น เราจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะได้ป้องกันได้อย่างถูกวิธี”
นพ.รัฐภรณ์ อึ๊งภากรณ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์