นอนกัดฟัน
การนอนกัดฟันมีผลเสียอย่างชัดเจนก็คือ การรบกวนเพื่อนที่นอนด้วยกัน ซึ่งแม้จะไม่รุนแรงเท่ากับคนที่นอนกรน แต่เสียงกัดฟันก็น่ารำคาญไม่น้อยทีเดียว ผลเสียโดยตรงต่อฟัน คือ ฟันจะสึกกร่อนในด้านบดเคี้ยว ความรุนแรงนี้ขึ้นอยู่กับความถี่บ่อยของการนอนกัดฟัน ลองนึกถึงการบดเคี้ยวอาหารของเราซึ่งเกิดจากการกัดฟัน เพื่อให้สามารถตัด ฉีก บดขยี้อาหารให้ละเอียด กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า จะต้องเกร็งตัวหนักมาก โดยเฉพาะเมื่อเคี้ยวอาหารเหนียว หรือแข็งมาก ๆ การนอนกัดฟันก็เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่กัดฟัน กล้ามเนื้อที่ใบหน้า จะออกแรงมากพร้อมกับการบดขยี้ของฟันที่กระทบกัน แต่เมื่อไม่มีอาหารมาคั่นกลางระหว่างฟันบนและล่างที่บดเคี้ยวอยู่ ก็เท่ากับการบดขยี้ฟันโดยตรง ทำให้ฟันสึกลงไปได้ ไม่ว่าเคลือบฟันฟันนั้นแข็งแกร่งหนักหนาเพียงใดก็ตาม เช่นเดียวกับการสึกกร่อนของหิน ซึ่งแม้จะแข็งปานใด เมื่อมีแรงกระทบบ่อย ๆ ก็สึกลงได้เช่นกัน
การสึกกร่อนของชั้นเคลือบฟัน (enamel) ซึ่งเป็นไปอย่างช้า ๆ และยังไม่มีอาการ แต่ถ้าการนอนกัดฟันยังดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน ๆ และฟันสึกเข้าไปถึงชั้นเนื้อฟัน (dentine) ซึ่งมีส่วนประกอบทางเคมี และคุณสมบัติต่างกับเคลือบฟัน ก็จะสึกกร่อนได้เร็วกว่า และเนื่องจากในชั้นเนื้อนี้มีเซลล์หล่อเลี้ยง จึงสามารถรับความรู้สึกได้ด้วยและมีผลให้การสึกกร่อนบนชั้นนี้มีอาการเสียวฟันตามมาด้วย ในผู้สูงอายุที่นอนกัดฟัน จึงมีอาการเสียวฟัน ควบคู่ไปกับการสึกของฟันบนด้านบดเคียว และการสึกของฟันบดเคี้ยวจะทำให้การบดเคี้ยวอาหารไม่ดีเท่าที่ควร เพราะขาดส่วนนูนส่วนเว้าที่ช่วยรองรับอาหารในระหว่างการบดเคี้ยวด้วย จึงเท่ากับการลดประสิทธิภาพของการใช้งานของฟันที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง
ในบางกรณีของการนอนกัดฟัน อาจเป็นได้ว่าเกิดเฉพาะบางบริเวณในปากและเป็นกับฟันบางซี่เท่านั้น ในกรณีนี้ ฟันที่ถูกกระแทกแรง ๆ บ่อย ๆ นี้ อาจมีผลเสียต่อตัวฟันโดยตรง ทำให้ฟันตาย และอาจเกิดอาการอักเสบของเยื่อปริทันต์ และเหงือกรอบฟันนั้นได้ด้วย ผลเสียร้ายแรงของการนอนกัดฟันคือ เมื่อฟันสึกกร่อนมาก ๆ จะมีผลตามต่อมา โดยไปมีผลต่อ ข้อต่อขากรรไกร ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงและการสึกกร่อน เพื่อให้สอดคล้องกับการสึกของฟัน และมีอาการเจ็บปวดที่บริเวณขากรรไกร โดยเฉพาะในขณะบดเคี้ยวอาหาร
สาเหตุของการนอนกัดฟัน
ในเด็ก พ่อแม่อาจสังเกตว่ามีกานอนกัดฟันได้ โดยเฉพาะในระยะที่ฟันกรามกำลังงอกขึ้นมาในช่องปาก ทั้งนี้ เนื่องจากฟันกรามที่งอกขึ้นมาใหม่นี้ มีความสมบูรณ์ในด้านรูปร่างของฟัน โดยสันนูนบนด้านบดเคี้ยวของฟันจะชัดเจนมาก เมื่อฟันกระทบกัน บริเวณสันนูนดังกล่าวมีโอกาสถูกกระทบก่อนบริเวณอื่น โดยธรรมชาติร่างกายก็จะปรับโดยการบดเคี้ยวอาหารและสันนูนนี้จะสึกกร่อนไปเองจนได้ระดับกับฟันอื่นในปาก แต่ถ้าเด็กที่ไม่ได้ใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารเพียงพอ เช่น กินอาหารอ่อน การสึกกร่อนโดยธรรมชาติเกิดไม่ได้ ร่างกายก็ต้องปรับในเวลานอน ในขณะที่ฟันกระทบกัน บริเวณส่วนนูนนั้นจะถูกบดขยี้ และสึกกร่อนจากการนอนกัดฟันนี้เอง แต่อาการนี้ เกิดไม่นานก็จะหายไปเอง
การนอนกัดฟันในเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็อาจเกิดได้จากการที่ไปอุดฟันหรือครอบฟันที่สูงเกินไปได้ ซึ่งแม้ว่าร่างกายของเรา โดยเฉพาะในปาก สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงได้ดีมากเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าความสูงจากการอุดฟันหรือครอบฟันนั้นไม่ได้รับการแก้ไขให้ทันกาลแล้ว ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการนอนกัดฟันที่พบได้บ่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันนี้ ยังพบได้ในผู้ที่มีฟันเก ซ้อน ไม่เป็นระเบียบและมีการสบฟันผิดปกติ โดยฟันที่เกนี้เองจะมีบางบริเวณที่สูงกว่าระดับปกติ และเป็นจุดที่ไปกระแทกกับฟันตรงกันข้ามก่อนเพื่อน เมื่อมีการสบฟันหรือกัดฟันซึ่งไม่ใช่สภาพปกติของร่างกาย
ดังนั้นถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ร่างกายเองจะพยายามไปลบจุดกระแทกดังกล่าว โดยการนอนกัดฟัน เพื่อให้จุดนั้น ๆ สึกกร่อน ซึ่งก็เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งของการนอนกัดฟัน
ในผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบ หรือเหงือกอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุฟันอาจจะโยก คลอน และลอยตัวจากเบ้ากระดูกที่รองรับฟัน ทำให้การสบฟันผิดปกติเป็นจุดกระแทกก่อนฟันซี่อื่น ร่างกายก็จะรู้สึกได้ทั้งในเวลาตื่นและนอน การนอนกัดฟันก็เกิดขึ้นได้ในผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรงเหล่านี้ได้ด้วย
นอกจากนี้ การนอนกัดฟัน อาจเกิดจากผู้ที่มีความผิดปกติของขากรรไกร เช่น ขากรรไกรค้างบ่อย ๆ การสึกของกระดูกรองรับข้อต่อขากรรไกรอาจเป็นผลให้เวลานอนซึ่งตามปกติฟันจะไม่กระทบกันเลย แต่ผู้ที่มีความผิดปกติเหล่านี้ ขากรรไกรอาจเคลื่อนมาชิดกัน ทำให้ฟันที่กระทบกันกัดกระแทกในเวลานอนได้ด้วย
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งของการนอนกัดฟัน ได้แก่ ทางด้านอารมณ์และจิตใจ โดยพบว่าผู้ที่มีความเครียดในระหว่างเวลากลางวัน จะมีผลให้เกิดการนอนกัดฟันได้ แม้จะไม่พบความผิดปกติของฟันหรือขากรรไกรแต่อย่างใดก็ตาม
การป้องกันและการแก้ไขการนอนกัดฟัน
เมื่อได้ทราบถึงสาเหตุและผลเสียของการนอนกัดฟันแล้ว การป้องกันและแก้ไข ก็เป็นไปตามผลของการค้นหาสาเหตุ โดยที่ประสาทรับความรู้สึกในปากของคนเราไวมาก ลองนึกถึงการมีเศษอาหารติดฟันเพียงเล็กน้อย จะรู้สึกรำคาญมากและพยายามที่จะกำจัดออก เช่นเดียวกัน การที่มีจุดหรือบริเวรที่สูงผิดปกติในปากจากฟันเอง หรือการอุดฟัน ครอบฟัน ฟันเก สบฟันผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้ ร่างกายก็จะรู้สึกได้ แต่ถ้าพยายามทน โดยไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงที ก็เป็นที่มาของการนอนกัดฟัน
ดังนั้นการป้องกันการนอนกัดฟันที่ดีวิธีหนึ่ง คือการสังเกต การเปลี่ยนแปลงในปาก เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายในขณะที่สบฟัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการนอนกัดฟันได้ ก็ควรหาทางกำจัดความไม่สบายนั้นโดยเร็ว โดยไปพบทันตแพทย์ตรวจจุดที่สบฟันผิดปกติ และแก้ไขโดยการกรอฟันให้พอเหมาะ ซึ่งวิธีการกรอฟันนี้เป็นวิชาการที่ละเอียดอ่อน เพราะถ้ากรอมากเกินไป อาจไปทำให้เกิดจุดกระแทกใหม่เกิดขึ้น เป็นลูกโซ่ต่อ ๆ ไปทำให้เกิดผลเสียมากมายตามมาได้
การใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารตามหน้าที่ โดยเฉพาะให้ได้เคี้ยวอาหารที่มีความเหนียวพอเหมาะ ไม่กินอาหารอ่อนเกินความจำเป็น อาหารประเภทเนื้อและผัก นอกจากจะให้คุณค่าทางอาหารแล้ว ยังมีผลให้มีการใช้ฟันบดเคี้ยวและสึกกร่อนพอเหมาะ โดยไม่ต้องให้ร่างกายช่วยเป็นพิเศษด้วยการนอนกัดฟันโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ การทำให้จิตใจให้เบิกบาน แจ่มใส ลดความเครียดทางอารมณ์ให้น้อยลงก็อาจมีส่วนช่วยไม่ให้นอนกัดฟันได้ด้วย
แต่ถ้าแก้ไขความผิดปกติ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ในปาก และนอกปากแล้วยังคงนอนกัดฟันอยู่ทันตแพทย์อาจช่วยท่านได้ โดยการให้ท่านใช้ยางกัดฟัน คล้ายกับที่นักมวยใช้เวลาชกมวยบนเวทีเพื่อป้องกันฟันกัดกระแทก โดยทำจากแบบจำลองของฟันในแต่ละคน เพื่อให้พอเหมาะพอดีในแต่ละราย และให้ใช้ในเวลานอน เพื่อว่าเมื่อมีการนอนกัดฟันจะไม่กระทบกระแทกกัน การสึกของฟันก็จะไม่เกิดขึ้น จนเป็นผลเสียต่อฟันและขากรรไกร
ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.thaihealth.or.th/