“บรรเทาอาการปวดหัว”จากความเครียดด้วยตัวเอง
หลายคนอาจคิดว่าอาการปวดหัวจากความเครียดไม่อันตราย กินยาเดี๋ยวก็หาย บางคนปล่อยทิ้งไว้ให้หายเอง บางรายสะสมจนถึงขั้นกลายเป็นโรคเรื้อรังในที่สุด ดังนั้นเรามารู้จัก วิธีการดูแลตัวเองเวลามีอาการปวดหัวแบบนี้กันดีกว่าค่ะ
อาการปวดหัวที่ไม่ใช่ลักษณะกะทันหันหรือมีอาการรุนแรงมากนัก สามารถรักษาตัวเองได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อคลายความเครียด
- ผ่อนคลายความตึงเครียดเหนื่อยล้า ด้วยการพยายามพักสายตา พักผ่อนร่างกายและจิตใจ
- เปลี่ยนอิริยาบถจากงานประจำที่ทำอยู่ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อเป็นการพักสมอง เช่น ปลูกต้นไม้ ฝึกวิธีนวดหรือบริหารคลายเครียด อ่านหนังสือ หรือฟังธรรม
- พักผ่อนหรือนอนหลับสักเล็กน้อย การสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือจิบเครื่องดื่มร้อนๆสักถ้วย อาจจะช่วยคลายอาการปวดได้
- พยายามเลี่ยงน้ำหอม เนื่องจากมีสารเคมี สูดดมมากๆจะไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย แต่ควรใช้กลิ่นธรรมชาติบำบัดแทนจะดีกว่า เช่น เปลือกส้มโอ เปลือกมะกรูด
- เปลี่ยนองค์ประกอบต่างๆ เช่น สี หรือการจัดห้อง การวางของ ให้รู้สึกโล่ง ปลอดโปร่ง ดูสบาย
หลากหลายวิธีบำบัดความเครียด
หากมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อาการปวดต่างๆ การบำบัดรักษามีมากมายหลายแบบแผน แต่สำหรับคนที่ไม่มีเวลา สามารถนำหลักของการแพทย์แผนไทยเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ที่บ้านหรือที่ทำงานก็ได้เช่นกันค่ะ
- ใช้ยาหอม นอกจากยาหอมจะมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนได้แล้ว ยังช่วยคลายจากอาการปวดหัวได้เช่นกันใช้สูดดมก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ชงดื่มกับน้ำร้อน นอกจากจะได้ตัวยาแล้ว ยังได้สูดดมกลิ่นหอมของยาที่ระเหยขึ้นมาด้วย ซึ่งช่วยบำบัดได้อีกทางหนึ่ง
- ใช้กลิ่นบำบัด เลือกกลิ่นที่ทำให้รู้สึกสบาย เพราะกลิ่นต่างๆจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นส้ม กลิ่นลาเวนเดอร์ หรือน้ำมันหอมระเหยของไทย จะใช้ได้ผลดีและปลอดภัยที่สุด
- ออกกำลังกายและรับอากาศบริสุทธิ์ให้เพียงพอ จะช่วยลดโอกาสเกิดอาการปวดหัว เพราะช่วยกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น และผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบศีรษะ
- นวดประคบ ด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบริเวณขมับ ท้ายทอย และต้นคอ จะทำให้รู้สึกดีขึ้น
วิธีกดนวดตัวเอง…เพื่อคลายปวดแบบง่ายๆ
- นวดบริเวณด้านหลังต้นคอ บีบขยำเบาๆ และนวดที่กล้ามเนื้อหัวไหล่สลับกันทั้งซ้ายขวา
- นวดโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ กดแรงๆบริเวณกล้ามเนื้อของกระดูกต้นคอทั้งสองข้าง และใช้นิ้วอื่นๆ ที่เหลือกดนวดบริเวณหลังใบหู
- ใช้นิ้วชี้กดนวดขมับแรงๆ นับ 1- 10 จากนั้นไล่นิ้วไปตามแนวคิ้วจนถึงหน้าผาก แล้วกดนิ้วชี้ลงแรงๆ บริเวณนั้น นับ 1 – 10
- นวดเป็นแนวจากต้นคอด้านหลังเรื่อยลงมายังหัวไหล่ ระวังอย่านวดบริเวณด้านหน้าหรือหลอดลม
อาการปวดหัวที่ต้องไปพบแพทย์
- ปวดหัวรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- ถ้าเคยเป็นมาก่อนแล้วอาการปวดหัวมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ปวดถี่และแรงขึ้น
- ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะพักผ่อนหรือรักษาตนเองแล้ว แต่ไม่ทุเลา
- มีอาการตาพร่า ตามืดมัว เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และเป็นอยู่ไม่หาย
- มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มองเห็นภาพซ้อน หรือการมองเห็นภาพค่อยๆมืดลง คลื่นไส้ อาเจียน ชัก ไข้ขึ้นสูงมาก ซึม ไม่รู้สึกตัว อัมพาต แขนขาอ่อนแรง ชา หรือเดินเซ
- มีอาการอักเสบ บวม กดเจ็บบริเวณศีรษะ ใบหน้า หรือต้นคอ